|
|
|
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 09/09/2564 ] |
|
|
|
|
วัคซีน2เข็ม-ATKทุก7วัน ภาคธุรกิจโอด ยังไม่พร้อม |
|
|
|
|
ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าหลายประเทศในโลกเริ่มปรับนโยบายสู่การ "อยู่ร่วมกับโควิด" เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)" อันหมายถึงวัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ และเมื่อฉีดให้ประชากรอย่างกว้างขวางก็จะทำให้เชื้อไม่สามารถระบาดได้และหายไปในที่สุด ดังนั้น นอกจากการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงหากติดเชื้อ ที่ในภาพรวมหมายถึงการลดจำนวน ผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิต รักษาระบบสาธารณสุขให้ทำงานได้ไม่ล่มสลายแล้ว ยังต้องมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยง
เช่น "วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport)"ที่หลายประเทศออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับ ใช้ร่วมกับหนังสือเดินทางเมื่อต้องไปต่างประเทศ หรือการเดินทาง ข้ามเมือง ตลอดจนการเข้าไปใช้บริการในสถานที่บางแห่ง หรือ "แสดงผลตรวจโควิดภายในระยะเวลาไม่เกิน...วัน" (3 วันบ้าง 4 วันบ้าง 7 วันบ้าง) ด้วยการ "ตรวจ ATK" กรณียังไมได้ฉีด วัคซีน หรือฉีดแล้วแต่ยังไม่ครบจำนวนที่วัคซีนชนิดนั้นๆ กำหนด
สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการ "COVID Free Setting" ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ว่า ผู้รับบริการต้องมีเอกสารรับรอง หรือ COVID Free Pass ว่าผ่านการรับวัคซีนแล้วครบโดส หรือมีประวัติการติดเชื้อ 1-3 เดือนหรือมีการตรวจเชื้อด้วย ATK ให้ผลเป็นลบ
และอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ย. 2564 ซึ่ง นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า พนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติ ติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย รวมถึงหา ATK ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน ส่วนผู้ใช้บริการ หากจะใช้บริการในกิจการเสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ตัดผม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจ ATK ผลเป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน
แม้จะเป็นนโยบายที่ดีเพื่อคัดกรองหาผู้ติดเชื้อใน เบื้องต้นอันเป็นการลดโอกาสเกิดโรคระบาด แต่ก็มีเสียงสะท้อน "จะทำได้จริงหรือไม่"จากภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ สรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเปิดเผยว่า วันนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารกังวลอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ข้อกำหนดการฉีดวัคซีนครบโดส (หรือ 2 เข็ม) เนื่องจากคนไทยเองก็ยังฉีดไม่ครบ ขณะเดียวกันธุรกิจร้านอาหารมีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และหลายคนยังไม่ได้วัคซีนแม้แต่เข็มเดียว
เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลขาดการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเป็นวงกว้างให้นายจ้างพาลูกจ้างไปฉีดวัคซีน มีเพียงการประสานกับผู้ประกอบการเป็นการภายในผ่านกลไกสมาคมเท่านั้น จึงทำให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างอีกจำนวนไม่น้อยไม่ทราบเรื่อง ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่า รัฐบาลอาจกังวลกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนชาวไทย กรณีคนไทยยังฉีดวัคซีนกันไม่ครบเหตุใดต้องนำไปฉีดให้ชาวต่างชาติก่อนด้วย แต่ก็เชื่อว่าหากรัฐบาลอธิบายอย่างตรงไปตรงมาถึงความจำเป็นในการควบคุมโรคระบาด ประชาชนชาวไทยก็น่าจะเข้าใจ
"ถ้าเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอยู่กับโควิด วัคซีนต้องไม่จำแนกชาติพันธุ์ เพราะเราต้องยอมรับว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยมหาศาล เอา ง่ายๆ เลย กรุงเทพฯ สมมุติคนไทยฉีดครบหมด ต่างชาติยังไม่ได้ฉีด ไม่ได้นะ! เพราะเขาเดินอยู่ในกรุงเทพฯ ผมก็ถือว่า เขาหายใจร่วมกับเรา ดังนั้น ก็ควรประกาศออกมาได้แล้ว แล้ว ผมเชื่อว่าคนไทยไม่มีใครดราม่าหรอก เพราะตอนนี้กรุงเทพฯ คน ได้เข็มแรก 80 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว เข็ม 2 มันเขยิบขึ้นมา 25-26 เปอร์เซ็นต์แล้ว ต้องเปิดโอกาสให้เขา ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจมันขับเคลื่อนไปไม่ได้" ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร อธิบาย กับ 2.การตรวจโควิดพนักงานด้วยชุดตรวจ ATK ทุกๆ 7 วัน ซึ่ง สรเทพกล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ประกอบการกังวลมาก เช่น หากพนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วยังจะต้องตรวจ ATK ทุกๆ 7 วันอีกหรือไม่ เพราะราคาชุดตรวจ 1 ชุดต่อพนักงาน 1 คน อยู่ที่ชุดละ 280 บาท อย่างพนักงานในร้านมี 50 คน ก็เท่ากับ 280 คูณด้วย 50 จะเท่ากับตรวจครั้งหนึ่งผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่าย 14,000 บาทแล้ว ดังนั้น หากต้องตรวจทุกสัปดาห์ ใน 1 เดือนก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงกว่า 5 หมื่นบาท ร้านอยู่ไม่ได้แน่นอน
"ผมฝากเรียกร้องหน่อยเถอะ รัฐบาล สาธารณสุข หรือ ศบค. จะออกมาตรการอะไรมา กรุณาคำนึงถึงค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบธุรกิจด้วย คุณเองช่วยเหลือผู้ประกอบการในยามที่ล็อกดาวน์คุณก็ช่วยเหลือน้อยมาก แทบจะไม่ได้รับการช่วยเหลือเลยด้วยซ้ำ ผู้ประกอบธุรกิจบางราย อย่างฟิตเนส ขืนเปิดมา 1 ตุลา คลายล็อก ฟิตเนสเปิดได้แต่ต้องตรวจ ATK ทุก 7 วัน เอาเฉพาะหนี้สินที่พอกพูนมา 2 ปี ก็ตายแล้ว ออกมาตรการต้องใช้ความเป็นจริงได้ อย่าออกมาตรการหรือเอากฎหมายมาซ้ำเติม ผู้ประกอบการเลย" สรเทพ กล่าวในประเด็นชุดตรวจ ATK ราคาสูงจนกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนนั้น พิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย กล่าวว่า หลังจากร้านนวดได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดอีกครั้ง ก็พอให้มีค่าข้าว-ค่าน้ำกับพนักงานบ้าง แม้จะไม่ได้ดีเท่าใดนักแต่ก็ยังดีกว่าช่วงที่ปิดร้าน แต่ "มาตรการให้ตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK พนักงานและลูกค้าหากนำมาบังคับใช้จริง รัฐบาลต้องสนับสนุนชุดตรวจให้กับสถานประกอบการ" และไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้ผู้ประกอบการซื้อชุดตรวจเพื่อตรวจพนักงานและลูกค้า
เช่นเดียวกับ สมเพชร ศรีชัยโย นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมสวยและช่างตัดผมไทย ระบุว่า เท่าที่ทราบ ในต่างประเทศต้นทุนชุดตรวจ ATK อยู่ที่ประมาณ 30 กว่าบาท เท่านั้น หากรัฐบาลไทยอยากได้กำไร เชื่อว่าตั้งราคาไว้ที่ไม่เกิน 50 บาทต่อชุด ผู้ประกอบการและประชาชนก็ยังพอมีกำลังซื้อมาใช้ ไม่ใช่ปัจจุบันที่ราคา 200-300 กว่าบาทต่อชุด และ ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพราะไม่อยากบังคับพนักงาน ซึ่งพนักงานก็ไม่ได้มีรายได้มากอยู่แล้ว หากต้องมาหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้อีก สุดท้ายพนักงานก็อาจจะย้ายไปอยู่กับร้านที่มาตรการไม่เข้มงวด
"เคยนำสินค้าเข้ามาจากจีนหลายปีมาก ก็ลองสั่งมาดูรอบหนึ่งหลายร้อยชิ้น สั่งมาแจกไม่ได้มาขาย สั่งมาตกชิ้นหนึ่ง 34 บาท รวมค่าส่งแล้วอยู่ประมาณ 37 บาท พอเราจะสั่งรอบ 2 ไม่ได้แล้ว เขาห้าม คาร์โกเขาไม่ส่งให้แล้ว เลยรู้ราคา ถ้ารัฐบาล สั่งเป็นหลักล้าน เราสั่งหลักร้อย เขาขาย 50 บาทให้ราษฎรเขา ก็มีกำไร ความจริงมันมีอยู่ หลานๆ เขาอยู่อเมริกา เขาถามว่าทำไมอาต้องซื้อ ที่โน่นเขาส่งมาให้ที่บ้านเลย แต่ละบ้านเลขที่ ได้รับเลย ฟรี แล้วถ้าเราใช้เยอะ ตามร้านค้าเขาขายตกประมาณ 30 กว่าบาท ถ้าเป็นเกรดดีๆ หน่อยไม่เกิน 45 บาท" สมเพชร กล่าว |
| | |
|
| |
|
pageview 1220042 |
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO) ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th | | |
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved
|
| |