HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 30/08/2564 ]
ขอเชิญชวนหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ดูเหมือนจะเริ่มดีขึ้น จากการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในแต่ละวันเริ่มลดลงมาอยู่ที่ระดับ 16,000 ราย และน่าจะลด ต่ำลงเรื่อยๆ โดยมีผู้ที่ได้รับการรักษาหายแต่ละวันเกินกว่า 20,000 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มลดน้อยลงมาอยู่ที่ระดับ 200 รายต้นๆ ตัวเลขเหล่านี้ได้ส่งสัญญาณถึงรัฐบาล จนกระทั่งได้ตัดสินใจให้มีการคลายการ ล็อกดาวน์ลงในระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้วิถีชีวิตของผู้คนกลับมาใกล้เคียงปกติมากขึ้นและเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น อันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในรัฐบาลได้
          การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นนี้น่าจะเป็นผลมาจากการระดมฉีดวัคซีน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลและ ต่างจังหวัดที่ทำได้ดีขึ้น โดยบางวันสามารถฉีดวัคซีนได้เกินกว่า 9 แสนราย เกินกว่าเป้าการฉีดปัจจุบันซึ่งตั้งไว้ ที่วันละ 5 แสนราย อันเป็นผลโดยตรงมาจากการที่รัฐบาล สามารถจัดหาวัคซีนเข้ามาเพื่อเติมเต็มจำนวนวัคซีนที่เคยขาดแคลนมาช่วงหนึ่ง โดยการสั่งวัคซีน ซิโนแวคจำนวน 12 ล้านโดสเพิ่มเติม ร่วมกับการได้รับวัคซีนบริจาคทั้งของแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์ และนอกจากนี้ ยังจะมีการเตรียมการจัดหาวัคซีนในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้และของปีถัดไป ให้มีความพอเพียงต่อการที่จะให้ประชากรมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่ม เป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเริ่มครอบคลุมไปถึงเยาวชนที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปด้วย ซึ่งก็เชื่อว่าหากทำได้ตามแผน การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศก็น่าจะเกิดขึ้นได้ แน่นอนและจะเป็นผลดีโดยส่วนรวม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประชาชนทุกคนยังต้องดำเนินชีวิตตามแนวชีวิตวิถีใหม่ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือให้บ่อย เช่นเดิมด้วย เพื่อให้การระบาดของโรคร้ายนี้ชะลอลงและ กลายเป็นโรคระบาดประจำถิ่นคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ในที่สุด
          เมื่อหันมาดูตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในภาพรวมมีมากกว่า 10,000 ราย และหากตัวเลขนำมาวิเคราะห์จะพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีจำนวนรวมตั้งแต่เริ่มมีการระบาดถึงปลายเดือนสิงหาคมอยู่ที่ประมาณ 60 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากพอสมควร รวมทั้งการเสียชีวิตของทารกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะป้องกันได้
          ถ้าดูรายละเอียดตัวเลขของการติดเชื้อโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ โดยรวบรวมตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ซึ่งเป็น ช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 จนถึงเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เป็นหญิงตั้งครรภ์จำนวนรวมประมาณ 2,500 ราย เป็น ชาวไทยมากกว่า 1,700 ราย ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติที่อาศัย ในประเทศไทย และหากนับตั้งแต่วันที่ 15-21 สิงหาคม ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว จะพบว่ามีหญิง ตั้งครรภ์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 435 ราย โดย 2 ใน 3 เป็น คนไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
          จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและราชวิทยาลัย สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกนำเสนอ ในคณะกรรมการศปค. และในที่สุดได้มีข้อสรุปว่า ประชากร กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และอาจจะมีอาการร้ายแรง จนเสียชีวิต นอกจากจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และ ด่านหน้า กลุ่มผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค รวมทั้งผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ให้นับว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงซึ่งต้องได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ ด้วยเช่นเดียวกัน
          สถิติข้อมูลของภัยคุกคามจากการติดเชื้อโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ในต่างประเทศที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ชั้นนำ เช่น New England Medical Journal และ Lancet  ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปนั้นพบว่า หากเปรียบเทียบอัตราการ เจ็บป่วยรุนแรงของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อกับผู้หญิงทั่วไป ทั้งที่ไม่ติดเชื้อและติดเชื้อโควิด-19 นั้น สิ่งที่ปรากฏชัดเจน คือหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจะมีความรุนแรงของอาการ มากกว่า 18. 58 เท่า และ 2.13 เท่าตามลำดับ และหาก เทียบอัตราการเสียชีวิต หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อจะมีโอกาสของการเสียชีวิตมากกว่า 2.85 เท่า และ 0.96 เท่าตามลำดับ
          ส่วนข้อมูลในประเทศไทยนั้นพบว่า มีหญิงตั้งครรภ์ 14-28 สัปดาห์ ติดเชื้อถึง 27 เปอร์เซ็นต์ และ 29-42 สัปดาห์ ติดเชื้อรวม 57 เปอร์เซ็นต์  โดยในส่วนของอัตราการเสียชีวิต พบว่าหญิงตั้งครรภ์ 14-28 สัปดาห์ เสียชีวิต 41 เปอร์เซ็นต์ และหญิงตั้งครรภ์ 29-42 สัปดาห์เสียชีวิต 55 เปอร์เซ็นต์ รวมอัตราการเสียชีวิตของหญิง ตั้งครรภ์ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564 พบว่าสูงถึง 2.5 เท่าของคนทั่วไป โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องมาจากสรีระของหญิงตั้งครรภ์ มดลูกมีการขยายตัว ขนาดของลำตัวขยายขึ้น ทำให้การหายใจมีภาวะยากลำบากขึ้นเมื่อติดเชื้อและเชื้อลงปอด  จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้นมาก
          กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าให้หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ มากกว่า 12 สัปดาห์ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 5 แสนราย โดย ขณะนี้พบว่ามีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 1 เข็ม ประมาณ 28,000 ราย คิดเป็น 5.5 เปอร์เซ็นต์ และฉีดครบ 2 เข็มแล้ว เพียงแค่ 2,000 รายเศษ หรือประมาณ 0.40 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
          ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดข้อบ่งชี้ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้หญิงตั้งครรภ์ไว้ดังนี้คือ หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป ยกเว้นผู้ที่มีข้อห้าม เช่นมีประวัติอาการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง โดยสามารถจะฉีดวัคซีนได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจากเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนไวรัลเวคเตอร์ เช่น แอสตราเซเนกา หรือวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอเช่นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาได้ทั้งนั้น ทั้งนี้หากได้รับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆมาก่อน เช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีน คอตีบไอกรน บาดทะยัก ซึ่งจำเป็นสำหรับหญิง ตั้งครรภ์ ให้เว้นระยะอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
          ข้อมูลการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ของหญิง ตั้งครรภ์ ซึ่งบ่งชี้ว่า สตรีกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงปรากฏชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่ ประเทศไทยได้รับวัคซีนไฟเซอร์บริจาคจำนวน 1.5 ล้านโดสมาพอดี เมื่อมีการจัดสรรวัคซีนบริจาคส่วนนี้โดยเน้นการฉีดให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วยผู้ให้บริการทางการแพทย์และ ด่านหน้า รวมทั้งผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค จึงได้รวมเอากลุ่มหญิงตั้งครรภ์เพิ่มเข้าไปด้วย นับว่าเป็นโอกาสอันดีในการที่จะเพิ่มยอดจำนวนของหญิงตั้งครรภ์ให้ได้รับการฉีดวัคซีนได้มากขึ้นและเร็วขึ้น
          หากย้อนกลับมาถึงเรื่องของการจัดหาวัคซีนของภาครัฐ เพื่อให้ฉีดกับประชากรได้ 2 เข็ม ครบตามเป้า 70 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มเป้าหมาย ภายในสิ้นปีนี้นั้น  ขณะนี้น่าจะเป็นข่าวดีว่านอกจากการจัดหาวัคซีนซิโนแวค เพิ่มเติม 12 ล้านโดส เพื่อใช้ฉีดเป็นฐานเข็มที่ 1 ก่อนที่จะฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 2 หลังจาก เข็มแรก 3-4 สัปดาห์ เนื่องจากมีข้อมูลแล้วว่า การฉีดไขว้วัคซีน 2 ชนิดนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้สูงเพียงพอต่อการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจากการ ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ รวมทั้งการสั่งซื้อวัคซีนของ ไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส จากเดิมที่สั่งไว้แล้ว 20 ล้านโดส และการที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีการปรึกษา หารือกับประธานบริษัทแอสตราฯ ทำให้บริษัทสามารถจะจัดส่งวัคซีนให้ประเทศไทยในแต่ละเดือนได้มากขึ้นจากเดิมที่เคยส่งให้ได้เพียงเดือนละ 5 ล้านโดส โดยภายใน สิ้นปีนี้จะส่งให้ได้ครบ 61 ล้านโดส ตามที่เคยตั้งเป้าไว้เดิม เสริมกับการที่ภาคเอกชนโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้ประสานงาน จัดหาวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามาในเบื้องต้นอีกอย่างน้อย 5 ล้านโดส ทำให้เชื่อได้ว่าภายใน สิ้นปีนี้ประชาชนชาวไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมาย และการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศตามทฤษฎี ของระบาดวิทยาย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
          จึงเป็นที่หวังได้ว่าหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยจะเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการดูแลโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาชีวิต ของหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งทารกที่กำลังจะเกิดมาเป็น ประชาชนคนไทยเช่นกันนั้นได้สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่อง ที่มีความสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของภาครัฐ ในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มให้ได้รับบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และเป็นการรักษาไว้ซึ่งสิทธิของประชาชน อันเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของประเทศไทย


pageview  1220045    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved