|
|
|
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 24/09/2564 ] |
|
|
|
|
สธ.เล็งฉีดกระตุ้นภูมิทุก6เดือนเริ่มบูสเตอร์เข็ม 3 ติดเชื้อรายใหม่ 12,697/ตาย132 |
|
|
|
|
รักษาหายพุ่งต่อเนื่อง13,540 ยันสิ้นปีฉีดครบตามเป้าลุ้นศบค.คลายล็อกมาตรการปรับเปลี่ยนเวลาปิดร้านอาหาร
สธ.เดินหน้าฉีดวัคซีนทั่วประเทศให้ได้ 1 ล้านโดส "วันมหิดล" 24 กันยายน สถานีกลางบางซื่อคิกออฟบูสเตอร์เข็ม 3 ให้คนฉีด ซิโนแวค 2 เข็ม ยันยอดฉีดสะสมของไทยเกินเป้า และทำได้เร็วกว่าแผน สิ้นกันยายนน่าจะเกิน 50 ล้านเข็ม และสิ้นปีได้ฉีดครบทุกคน เตรียมจัดหาเพิ่มเพื่อฉีดบูสเตอร์ทุก 6 เดือน เหมือนวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ สปสช.สรุปแจกชุดตรวจ ATK ไปแล้ว 114,603 คน จำนวน 229,206 ชุด ส่งผล 49,350 เคส พบติดโควิด 342 ราย นำเข้าระบบรักษาเรียบร้อย สถานการณ์โควิดไทยยังทรง ติดเชื้อเพิ่มวันเดียว 12,697 ราย รักษาหายเพิ่มรายวันอยู่ที่ 13,540 คน ตายเพิ่ม 132 ศพ
เมื่อวันที่ 24 กันยายน ศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ เสียชีวิต และจำนวนผู้รักษาหาย ที่ยังมีมากกว่าผู้ป่วยใหม่ต่อเนื่อง
ติดเชื้อ12,697ตายเพิ่ม132ราย
ศบค.ระบุว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 12,697 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,313 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ในชุมชน 1,203 ราย จากเรือนจำ/ ที่ต้องขัง 170 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 11 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 132 ราย สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,537,310 ราย รักษาตัวอยู่ 127,392 ราย
รักษาหายกลับบ้านอีก13,540คน
ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 1,393,902 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 13,540 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม (ตั้งแต่ปี 2563) 15,922 ราย รายละเอียดผู้เสียชีวิตของไทย วันที่ 24 กันยายน 132 ราย แยกเป็น ชาย 69 ราย หญิง 63 ราย ค่ากลางอายุ 67 ปี(30-99 ปี) อยู่ในกรุงเทพฯ 31 ราย เป็นกลุ่ม 607 รวมกันถึง 89% เป็นผู้มี อายุ 60 ปีขึ้นไป 85 ราย คิดเป็น 64% 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 33 ราย คิดเป็น 25% มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 1 ราย สาเหตุจากโรคประจำตัว/ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคไต
คิกออฟเข็ม3ให้คนฉีดซิโนแวค2โดส
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และแพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ และผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ประกาศนโยบายและการเตรียมความพร้อมของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เพื่อเปิดให้บริการฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster dose) กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ที่เคยได้รับวัคซีน Sinovac เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 จากศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ โดยจะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 15,000 คนก่อน และจะทยอยฉีดจนครบ 150,000 คน โดยจะได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มกระตุ้น (Booster dose) ทั้งนี้ ศูนย์ฯจะใช้ฐานข้อมูลเดิมสำหรับส่ง SMS ให้ผู้รับบริการเพื่อนัดหมายวันเวลาฉีดวัคซีนล่วงหน้าและผู้รับบริการสามารถตรวจสอบวันเวลา นัดด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น "Vaccine บางซื่อ"
บูสเตอร์ตามความสมัครใจของปชช.
นายสาธิตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้รับบริการที่ได้รับ SMS แจ้งวันเวลานัดหมายฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster dose) จากทางศูนย์ฯ และสมัครใจรับวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถเดินทางมาที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เข้าประตู 1 , 2, 3, 4 แสดง SMS หรือ แอปพลิเคชั่น "Vaccine บางซื่อ" ต่อเจ้าหน้าที่โดยจะได้รับแบบคัดกรอง และไปที่จุดฉีดวัคซีนได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ และขอความกรุณามารับวัคซีนตรงตามวันและเวลานัด ทั้งนี้ ศูนย์ฯจะเปิดให้บริการฉีดวัคซีนในเวลา 09.00-18.00 น. ทุกวัน ไม่มีวันหยุดจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ขอสงวนสิทธิ์งดให้บริการ กรณีที่มาไม่ตรงวันที่นัดหมาย
ระดมฉีด1ล้านโดส'วันมหิดล'
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดให้บริการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 1 ล้านโดส เนื่องในวันมหิดล เพื่ออุทิศถวายแด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดช วิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ที่ห้าง เซ็นทรัลเวสต์เกต บางใหญ่ ซึ่งมีเป้าหมายฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เข็ม 2 จำนวน 11,954 คน และฉีดกระตุ้นเข็ม 3 จำนวน 500 คน รวมทั้งสิ้น 12,454 คน ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ซึ่งมีเป้าหมายฉีดเข็ม 3 จำนวน 1.5 หมื่นคน
ยันคุมสถานการณ์ได้จะคลายล็อก
นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้เป็น วันมหิดล ซึ่งมีความหมายกับวงการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลา ธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ถือเป็นพระบิดาแห่งวงการแพทย์ของไทย วันนี้ สธ.จึงรณรงค์เชิญฉีดวัคซีนให้ได้ทั่วประเทศ 1 ล้านโดส โดยย้ำว่าวัคซีนที่จัดหามาทั้งวันนี้หรือก่อนหน้านี้ เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ ช่วยให้ปลอดภัย แม้จะป้องกันติดเชื้อไม่ได้ 100% แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว ช่วยป้องกันอาการป่วยรุนแรง และแทบไม่มีโอกาสเสียชีวิต นี่คือคุณสมบัติที่ดีที่สุดของวัคซีนป้องกันโควิด
สำหรับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนนั้น นายอนุทินเผยว่า ขณะนี้ฉีดไปแล้ว 47 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือนกันยายนน่าจะเกิน 50 ล้านเข็ม ถือว่าฉีดวัคซีนได้เร็ว เป็นไปตามแผน ฉะนั้นคิดว่าถึงสิ้นปีที่ประชากรในประเทศไทยจะได้รับวัคซีนตามเป้าหมาย ครบ แล้วโอกาสแพร่เชื้อฯ การควบคุมการระบาดจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทุกคนจะรับวัคซีนเรียบร้อย แต่เนื่องจากไวรัสโควิดยังอยู่ทั่วไปในประเทศ จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนคงพฤติกรรมล้างมือ เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย โอกาสได้รับอันตรายจากโควิด เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลย แล้วจะช่วยให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขได้ รัฐบาลขอให้คำยืนยันว่า เมื่อเราควบคุมสถานการณ์เห็นว่า ปลอดภัยระดับหนึ่งแล้ว จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตให้เป็นปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เตรียมฉีดบูสเตอร์ให้ทุก6เดือน
นายอนุทินกล่าวด้วยว่า วันนี้หลายคนมาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มแรกเป็น ซิโนแวค และภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นใน 2 สัปดาห์หลังฉีด ดังนั้น ระยะเวลานี้ขอให้ระวังตัวเอง นอกจากนี้วันนี้จะได้มีการเริ่มการรณรงค์ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งหลังฉีดวัคซีนเข็ม 2-3 ไปแล้วมีรายงานการศึกษาพบว่าหลัง 6 เดือน ภูมิคุ้มกันอาจลดลงกระทรวงสาธารณสุขก็ได้จะฉีดบูสเตอร์โดสเสริมภูมิคุ้มกันไปเรื่อยๆ เหมือนฉีดวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ทุกปี
ยังไม่ได้รับหนังสือสหรัฐบริจาคไฟเซอร์
นายอนุทินยังกล่าวถึงกระแสข่าวสหรัฐฯบริจาควัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านโดสให้ไทย แต่ที่คนไทยยังไม่ได้รับมาฉีด เพราะรัฐบาลล่าช้าในการทำเอกสารนั้น ขอย้ำว่าไทยยังไม่ได้รับจดหมาย หรือหนังสือแสดงเจตจำนงจากสหรัฐฯในการบริจาควัคซีน ที่ผ่านมาเมื่อสหรัฐฯบริจาควัคซีน ไทยก็ทำหนังสือตอบกลับไม่เกิน 2 สัปดาห์ ขอทุกฝ่ายอย่านำเรื่องนี้มาประเด็นให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้ามาวันที่ 29 กันยายน จะเน้นฉีดให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี เพื่อให้เปิดเรียนได้ทันช่วงเดือนพฤศจิกายน ขณะที่การฉีดแอสตราเซเนกา เป็นเข็ม 3 กระตุ้นภูมิให้คนฉีดซิโนแวค 2 เข็มครั้งนี้ ยืนยันว่ามีผลศึกษาออกมาแล้วว่า จะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น และหาก ติดเชื้อจะช่วยลดป่วยหนัก และเสียชีวิต
ปลดล็อกมากจนเกือบปกติ-เปิดโรงหนังได้
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการผ่อนคลายมาตรการระยะถัดไปว่า การประชุม ศปก.ศบค.หารือผ่อนคลายมากเกือบเป็นปกติแล้ว เช่น โรงหนัง ส่วนเรื่องการปรับพื้นที่สีคาดว่ายังไม่ปรับ แต่ต้องรอดูมติการประชุมอีกครั้ง ขณะเดียวกัน การประกาศใช้เคอร์ฟิว เวลาการปิดให้บริการร้านอาหาร อาจปรับด้วย ส่วนเรื่อง ความชัดเจนของมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง (Covid Free Setting) หลักการชัดเจนแล้วคือ 1.ครอบคลุมพื้นที่ แต่พื้นที่ต้องดูแลพื้นที่ตัวเอง เช่น เกาะ ก็ต้องดำเนินตามเซ็ตติ้งเกาะ พื้นที่เป็นที่เปิด เช่น ชะอำ ที่ติดแดนบกก็มีมาตรการของตัวเอง 2.ผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม อาหาร ต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ครบถ้วน ตรวจหาเชื้อด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) เป็นระยะ และ 3.ผู้รับบริการ หากตามกำหนดเข้าบริการต้องตรวจ ATK หรือฉีดวัคซีน ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น โดยอาศัยความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนกำหนดเองได้ เช่น ร้านนี้บอกว่า ต้องฉีดวัคซีน หรือตรวจ ATK ก่อนเข้าร้าน ก็ทำได้
เปิดแซนด์บ็อกซ์คนพื้นที่ต้องมีวินัยร่วมมือ
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า การถอดบทเรียน ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เราเรียนรู้ว่ามาตรการป้องกันเชื้อโรคจากต่างประเทศมาภูเก็ตได้ค่อนข้างดี แต่ปัญหาคือ คนในพื้นที่ อาจนำแรงงานทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายกลับเข้ามา และไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่เคร่งครัดดำเนินงาน จึงต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่เพียงมาตรการสาธารณสุข แต่วินัยของทุกคนสำคัญที่สุด หากทุกคนไม่ช่วยกันคิดว่าปล่อยมา 1-2 คน ไม่เป็นไร แต่ถ้ารวมกันหลายคนก็เกิดปัญหาระบาดได้ ดังนั้น การจัดการกับความร่วมมือของคน ผู้ประกอบการในพื้นที่สำคัญที่สุด ดังนั้น คนใน 5 จังหวัดนำร่องเปิดการท่องเที่ยว ต้องเตรียมความพร้อม ดำเนินตามมาตรการเคร่งครัด โดยเฉพาะที่ไม่ควรเกิดขึ้นคือ รับแรงงานต่างชาติที่ไม่ฉีดวัคซีนเข้ามาทำงาน รวมถึงมาตรการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างต้องทำให้ครบถ้วน อย่างร้านอาหารบางที่เรากำหนดให้นั่งได้ 50% แต่ก็เปิดให้นั่งเกือบ 100% ดังนั้น ความร่วมมือสำคัญ จะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทุกที่คงไม่ได้ อดทนสักนิด ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น จะค่อยๆ ผ่อนคลาย
ฉีดวัคซีนได้เร็วกว่าแผนถึง10ล้านโดส
"นายกฯเร่งการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่าเราฉีดวัคซีนได้เร็วกว่าแผนคือ สิ้นเดือนกันยายน เราต้องฉีดวัคซีนได้ 40 ล้านโดส แต่ตอนนี้ เราฉีดได้กว่า 46 ล้านโดส เมื่อถึงสิ้นเดือน คาดว่าจะได้ 50 ล้านโดส ถือว่าเร็ว กว่าแผนถึง 10 ล้านโดส ทำให้เราสามารถผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศ ได้เร็วขึ้น" นพ.โอภาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ฉีดวัคซีนโควิดจำนวนมากขึ้นแล้ว ส่วนกรณีประชาชนจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยคัดกรองตัวเองเบื้องต้นด้วยการตรวจ ATK ได้หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า สามารถทำได้ ด้วย 1.ฉีดวัคซีนครบ 2.หากเป็นกิจกรรมเสี่ยง ให้ตรวจ ATK เมื่อผลเป็นลบ จะช่วยลดความเสี่ยงได้ เราก็พยายามทำให้ความเสี่ยงน้อยลงที่สุด ส่วนสถานที่เสี่ยงสูง เช่น ร้านอาหารติดแอร์ โรงหนัง หากตรวจก่อนเข้ากันทุกคน ก็สบายใจได้ระดับหนึ่ง ซึ่งระยะต่อจากนี้ราคาชุดตรวจ ATK ก็จะถูกลงกว่าเดิมเยอะ รวมถึงประชาชนตรวจได้เอง ก็เพิ่มความสะดวกขึ้น
ลุยแจกATKไปแล้ว2.2แสนชุด
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลรายงานการกระจายชุดตรวจ "แอนติเจน เทสต์ คิท" (Antigen Test Kit : ATK) เพื่อให้ประชาชนตรวจเชื้อ โควิดด้วยตนเองนั้น ขณะนี้การกระจาย ATK ไปทั่วประเทศเร็วกว่าแผนที่กำหนด โดยในพื้นที่เขต 4, 5, 6 และ 12 บริษัท ไปรษณีย์ จำกัด จัดส่งไปแล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายน และเมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ตรวจรับชุดตรวจ ATK 3.5 ล้านชุด โดยภายในวันที่ 27 กันยายน ชุดตรวจ ATK จะถูกจัดส่งไปทุกพื้นที่ ทั้งนี้ จากข้อมูลการแจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กันยายน เวลา 15.00 น. มีประชาชนรับชุดตรวจ ATK แล้ว 114,603 ราย เป็นจำนวน 229,206 ชุด ในจำนวนนี้ เป็นการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง 114,603 ราย และเป็นการแจกโดย อสม. 519 ราย
แจ้งผล4.9หมื่นคนผลบวก342ราย
นพ.จเด็จกล่าวต่อว่า ช่วงแรกที่การรายงานการบันทึกผลตรวจ ATK ของประชาชนที่รับชุดตรวจแล้วมีจำนวนต่ำมาก แต่จากที่เราขอความร่วมมือประชาชนให้ตรวจ ATK หลังรับชุดตรวจโดยเร็ว ประกอบกับสปสช. โดยสายด่วน สปสช. 1330 จัดระบบโทรติดตามประชาชนที่รับชุดตรวจไปแล้ว ปรากฏว่าทำให้จำนวนการรายงานผลเข้ามาในระบบเพิ่มสูงขึ้น โดยวันนี้มีการบันทึกผล 49,350 ราย หรือร้อยละ 43 เป็นผลบวก 342 ราย โดยในส่วนผู้ที่มีรายงานผลตรวจเป็นลบ สายด่วน สปสช.1330 โทรติดตาม เบื้องต้นผู้ติดเชื้อจะอยู่ในกทม. ตามการกระจายชุดตรวจ ATK ระยะแรก และส่วนใหญ่เมื่อผลตรวจเป็นลบ ส่วนใหญ่เข้าตรวจ RT-PCR ยืนยันที่ โรงพยาบาลอีกครั้ง และเข้าระบบ Hospitel แล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบรักษา เจ้าหน้าที่ สายด่วน สปสช. ส่งข้อมูลเข้าระบบดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation และ Community Isolation) ส่งต่อไปยังหน่วยบริการตามเขตให้ติดตาม ดูแลต่อแล้ว
ศธ.แจงไทม์ไลน์สำรวจนร.ฉีดไฟเซอร์
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียน นักศึกษาที่อายุ 12-18 ปี ทุกคนทุกสังกัดกว่า 4.5 ล้านคน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานครช่วงเดือนตุลาคมนั้น การจัดเตรียมรายชื่อและจำนวนนักเรียน ขอให้สถานศึกษาดำเนินการ ดังนี้ 1.สรุปรายชื่อนักเรียนที่ผู้ปกครองประสงค์ให้ฉีดวัคซีน พร้อมสรุปยอดรวมจำนวนนักเรียนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน ต่อศึกษาธิการจังหวัด 2.กรณีสถานศึกษามีนักเรียนในสังกัดที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน แต่นักเรียนรายนั้นไม่ได้พักอยู่ในจังหวัดที่ตั้งของสถานศึกษา เช่น สถานศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ แต่นักเรียนไปพักอาศัยอยู่จังหวัดไหน ให้สถานศึกษาจัดทำ รายชื่อนักเรียนรายนั้นแยกต่างหาก เสนอต่อศึกษาธิการจังหวัด ภายในวันที่ 26 กันยายน เพื่อสรุปรายชื่อและจำนวนนักเรียน และรายชื่อแยกรายจังหวัด ส่งมา ยังสำนักบูรณาการกิจการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายในวันที่ 28 กันยายน จากนั้นวันที่ 29 กันยายน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สรุปจำนวนนักเรียนที่พักอาศัยในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาต้นสังกัด รวม 77 จังหวัด เสนอต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 30 กันยายน เพื่อให้กรมควบคุมโรค จัดสรรยอดวัคซีนเพิ่มรายจังหวัด และให้สาธารณสุขจังหวัดกำหนดวัน เวลา และสถานที่ฉีดวัคซีนของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนได้ฉีดวัคซีนในจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปฉีดวัคซีน |
| | |
|
| |