|
|
|
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 22/09/2564 ] |
|
|
|
|
ก่อนเปิดเมือง...อย่าลืมเปิดพื้นที่ทำกิน |
|
|
|
|
นโยบายการจะ "เปิดเมือง" ของรัฐบาลและ ศบค. ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องที่ดี ที่หวังจะให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ขยับตัวบ้าง แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่างให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะ "ความปลอดภัยและความพร้อม" ของเมืองนั้นๆ เนื่องจากสภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่อยู่ในภาวะที่ "ควบคุมได้"
การจะ "เปิดรูหายใจ" ให้แก่เศรษฐกิจ ควรเริ่มจากการ "เปิดพื้นที่ทำกิน" ให้แก่เมืองนั้นๆ ก่อน "เปิดประตูเมือง" รับคน "นอกพื้นที่" จะดีกว่าไหม?
1) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน สส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงความชัดเจนที่ กทม. จะเปิดเมืองว่า การที่ กทม. จะเปิดเมืองได้เมื่อไร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะประชุมปรึกษาหารือกันอย่างรอบด้านให้ตกผลึกเสียก่อนว่าจะเปิดได้เมื่อไร ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้บริหารระดับสูงออกมาพูดกันคนละครั้งไม่ตรงกัน วันหนึ่ง รมว.การท่องเที่ยวฯ ออกมาบอกว่าจะเปิดเมือง กทม. 15 ต.ค. แต่หลังจากนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ออกมาบอกว่ายังไม่เคยพูดว่าจะเปิดเมืองได้ เพราะต้องฉีดวัคซีนเข็ม 2 ของประชาชนในกรุงเทพฯ ให้ได้ 70% ก่อน ถึงจะเปิดได้ ซึ่ง กทม. ตั้งเป้าว่าจะฉีดได้ 70% ในวันที่ 22 ต.ค. แต่ถ้าได้วัคซีนเร็วก็จะฉีดได้ถึง 70% เร็วขึ้น
นายองอาจ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าการจะเปิดเมือง กทม. ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายกระทรวง ทั้งกระทรวง การท่องเที่ยวฯ กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ต้องทำงานประสานงานกันให้ลงตัวและร่วมกันทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างคนต่างคิด ต่างพูดต่างทำจนเกิดความไม่แน่นอน และก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการแก้ไขโควิดให้เข้าสู่สถานการณ์ปกติของรัฐบาลเพราะการเปิดเมือง กทม. เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเตรียมความพร้อมหลายด้านดังนี้
1. ประชาชนในกรุงเทพฯ ต้องได้ฉีดวัคซีนเข็ม 2 มากกว่า 70%
2. ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดให้พร้อมมากที่สุดก่อนเปิดเมือง กทม. โดยเฉพาะการป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชนแออัด และสถานที่พักอาศัยที่มีสภาพอยู่รวมกันจำนวนมาก
3. หลังเปิดเมือง กทม. แล้ว หากพบการแพร่ระบาด ต้องมีมาตรการเชิงรุกที่พร้อมจะเข้าควบคุมพื้นที่ทันทีหลังพบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหญ่
"จึงขอฝากนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศบค. ช่วยจัดการให้ทุกหน่วยงานประสานงานกันให้พร้อม ก่อนที่จะออกมาประกาศว่าจะเปิดเมือง กทม. ได้เมื่อไร ไม่ควรปล่อยให้เกิดสภาพที่ใครอยากกำหนดจะทำอะไรก็ทำตามอำเภอใจ ทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนอย่างเป็นทางการ เพราะเมื่อภาครัฐมีความชัดเจน ภาคเอกชนและคนทำมาหากิน จะได้เตรียมพร้อมรองรับการเปิดเมือง กทม. เพื่อช่วยกันทำให้การเปิดเมืองเดินหน้าได้ และไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นอีก เพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงปกติได้มากที่สุดต่อไป" นายองอาจ กล่าว2) นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และนายพันธ์พิสุทธิ์ นุราช ว่าที่ผู้สมัคร สส. เขตบึงกุ่ม ปชป. นำตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านค้ารายย่อย รวมถึงหาบเร่แผงลอย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านนายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา เรียกร้อง ศบค. ยกเลิกเคอร์ฟิว หรือ ขยายเวลาเคอร์ฟิวเพิ่มเติมจาก 21.00 น. เพื่อช่วยเหลือ ผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยให้กลับมาดำเนินกิจการ ต่อได้ เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่าผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้า ธุรกิจกลางคืน และหาบเร่แผงลอย เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 และได้มีความพยายามที่จะปรับตัวตามมาตรการการบริหารของภาครัฐมาโดยตลอด แม้ปัจจุบันจะได้รับอนุญาตให้เปิดบริการและนั่งทานในร้านได้แล้ว แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการกำหนดระยะเวลาเคอร์ฟิวตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น. ซึ่งไม่เพียงพอต่อการหารายได้ในแต่ละวัน โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการที่เริ่มดำเนินการในช่วงเย็น ที่จะต้องเตรียมตัวปิดร้านหลังเวลาเปิดได้ไม่นาน ทำให้เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ในขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารด้วยเช่นกันเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ Work from Home หรือเลือกทานอาหารได้ในช่วงเวลาจำกัด
ทั้งนี้ ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. เข้าใจความเดือดร้อน ดังกล่าวของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี จึงอยากให้ศบค. พิจารณาผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้ประคองธุรกิจผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้ อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นคืนในเร็ววัน โดยนายปริญญ์เน้นย้ำในตอนท้ายว่า "เวลา" ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ไม่ควรนำมาใช้ตีกรอบการประกอบอาชีพของประชาชน
ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าวันนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะให้มาตรการด้านสาธารณสุขกับมาตรการทางด้านเศรษฐกิจเดินไปควบคู่กัน เพราะอย่างไรก็ตามประเทศก็มีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายมาตรการบางอย่างเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐจัดทำ Good Practice ให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท เช่นเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มี Good Factory Practice เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนได้เตรียมพร้อมกับการเตรียมเปิดประเทศ
"หากวันนี้ยังไม่เตรียมการทำอะไรเพิ่มเติม เชื่อว่าในวันที่รัฐบาลเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ อาจไม่เหลือ ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายย่อย ที่จะมารองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศมาในอนาคตได้"นางดรุณวรรณ กล่าว
3) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ค Chao Meekhuad เรื่อง ก่อนเปิดประเทศ เปิดอาชีพให้ หาบเร่ แผงลอย ก่อนดีมั้ย? มีเนื้อหาระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก แม่ค้า พ่อค้า ตลาดสะพานสอง เขตวังทองหลาง ลาดพร้าว 47 ว่า ตอนนี้เดือดร้อน เรื่องที่ขายของเพราะแต่เดิมวางขายของกันได้ตามแนวร่นริมฟุตปาธช่วงตีสี่ถึงเจ็ดโมงเช้า แต่เดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่เทศกิจมาเฝ้าไม่ให้ขายเลย อยากให้ช่วยเป็นปากเป็นเสียง สะท้อนความทุกข์ยากของคนจนยุคโควิดที่กำลังจะอดตาย พวกเขาถึงกับทำป้ายระบายความคับข้องใจติดไว้ข้างบาทวิถีด้วย เช่น "เอาแผงลอยคืนมา เอาผู้ว่าคืนไป 7 ปีที่สร้างไว้คือความ...หายของแผงลอย" "เป็นนายก ถ้าทำดีไม่ได้ ก็อย่าทำร้ายประชาชน เป็นผู้นำไม่ใช่หัวหน้า...อย่าสับสน คิดให้ดี หาบเร่แผงลอยไทย ไม่เอา นายกตู่" และ "แค่อยากให้บ้านเมืองสวยงาม แต่ทำไมต้องแลกด้วยความตายของประชาชน" อ่านแล้วก็สะท้อนใจ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเรื่องจัดระเบียบหาบเร่ แผงลอยดูอีกสักครั้ง บาทวิถีเป็นของคนเดินก็จริง แต่เราสามารถจัดสรรให้บาทวิถีเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจชุมชนได้เช่นเดียวกัน
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า สองปีที่แล้วตนเคยเสนอ 4 จัด ให้รัฐทบทวนคืนอาชีพให้พ่อค้า แม่ค้าหาบเร่แผงลอย แม้จะไม่มีใครฟัง แต่จะขอนำข้อเสนอเดิมมากระตุ้นอีกสักครั้ง 4 หลักจัดที่อยากให้ทำ คือ จัดผังแผงลอย จัดแผนการใช้พื้นที่สาธารณะ จัดงบประมาณสำหรับพัฒนาพื้นที่ และจัดให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่
"เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ครม.เพิ่งเคาะมาตรการดึงดูดเศรษฐีชาวต่างชาติ เข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย เตรียมลดภาษีนำเข้าไวน์ สุราและซิการ์ลงกึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี ก็อยากให้รัฐบาลหันกลับมาดูเศรษฐกิจรากหญ้า สร้างรายได้หมุนเวียนให้คนจนบ้าง อย่าคำนึงถึงแต่เงินจากนอกประเทศ เพราะสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งอย่างแท้จริง คือ ความแข็งแกร่งจากภายใน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนในประเทศมีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง คืนทางเท้าให้คนเดินเท้าเป็นเรื่องที่ดี ผมเห็นด้วย แต่อยากให้เปลี่ยนมุมคิดใช้บาทวิถีร่วมกันแบบเกิดประโยชน์สูงสุด คนเดินเท้าได้อาหารราคาถูก หาบเร่ แผงลอย มีรายได้ แค่รัฐเข้าไปบริหารจัดการ เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตคนจนจะดีกว่านี้ ไม่ใช่ถือไม้ไล่จับไล่ตียึดข้าวของตะกร้า รถเข็น เห็นแล้วหดหู่ใจครับ" นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย
สรุป :ผมร้อยเรียง 3 ข่าวนี้เข้าด้วยกันเพื่อจะบอกว่า... 1.ต้องเตรียม "ความเข้มแข็ง" และ "ความปลอดภัย" ให้เมืองที่มีนโยบายจะเปิดให้พร้อม ให้ดีพอเสียก่อน
2.การจะเปิดเมืองใดเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เริ่มจาก "ความพร้อม" ของคนในเมืองนั้นๆ สถานที่ในเมืองนั้นๆ ก่อน มิใช่หรือ
3.อย่าเน้นเศรษฐกิจใหญ่ จนลืมเศรษฐกิจปากท้อง และชีวิตประจำวันของคนในเมืองนั้นๆ
4.ไม่ต้องผลีผลามเปิดเมือง โดยที่ผู้คน ความปลอดภัย และกิจกรรมของเมืองนั้นๆ ยัง "ถูกคุมขัง" อยู่ในเงื่อนไขเข้มงวด ดูความพร้อม ซ้อมใหญ่ ด้วยการผ่อนปรนมาตรการที่ทำได้ แล้วดูผลที่ตามมาในระยะสั้นๆ ให้เห็นแนวโน้ม ว่าดีหรือไม่ดี นับว่ารอบคอบกว่า จะได้ไม่ลน เมื่อเกิดปัญหาเพราะผลีผลามเปิดเมืองเพื่อการเมือง" ของรัฐบาล
เราทุกคนล้วนรักบ้านรักเมือง ห่วงบ้านห่วงเมือง และยากจนข้นแค้นไปด้วยกัน
การจะ ให้โอกาสแก่ "เศรษฐกิจ" เป็นแนวคิดที่ดีมาก แต่ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รอบคอบ
อย่าเอาเมือง เอาคน เอาขีดจำกัดของระบบสาธารณสุขไปเสี่ยง ไปเป็นเดิมพัน บนความอยากของฝ่ายการเมืองที่จะสร้างผลงาน หรือคลี่คลายความตึงเครียดทางการเมืองของตนเองเป็นอันขาด
จึงควรเริ่มต้นจากการ "คืนลมหายใจ" ให้ธุรกิจของเมืองนั้นๆ ได้ขยับตัวเป็นการภายใน แล้วค่อยทำงานใหญ่ คือ เปิดเมือง!!! |
| | |
|
| |
|
pageview 1220033 |
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO) ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th | | |
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved
|
| |