HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 07/06/2555 ]
จุฬาฯ เผยผลวิจัยดนตรีบำบัด ลดพฤติกรรมกระวนกระวายผู้สูงอายุ

 ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการของความผิดปกติในการทำงานของสมอง พบมากในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องทางการรับรู้ การนึกคิด และความจำ บางครั้งแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น มีภาวะหลงลืม มีอาการก้าวร้าว ฯลฯ โดยพฤติกรรมกระวนกระวาย (Agitate behaviors) เป็นพฤติกรรมที่พบมากที่สุดในผู้สูงอายุ ที่มีภาวะสมองเสื่อมถึงประมาณร้อยละ 50 เกิดจากการได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าที่ผิดปกติทางด้าน ร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่งผลต่อการรับรู้ผิดปกติ ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะสับสน หวาดกลัว กระสับกระส่าย รู้สึกไม่สบายทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มั่นคงในการดำเนินชีวิต
          ร.อ.หญิง ชุติมา ทองวชิระ มหาบัณฑิตคณะพยาบาลศาสตร์ เจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์เรื่อง "ผลของการบำบัดทางการพยาบาลโดยใช้ดนตรีร่วมกับการจัดสิ่งแวดล้อมต่อพฤติกรรมกระวนกระวายของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม" ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประเภทนิสิตมหาบัณฑิต ประจำปี 2554 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ โดยมี รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวถึงผลงานวิจัยดังกล่าวว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการบำบัดทางการพยาบาลโดยใช้ดนตรีร่วมกับการจัดสิ่งแวดล้อม เพื่อลดพฤติกรรมกระวนกระวายของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยศึกษาวิจัยที่สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค ซึ่งมีอาคารสำหรับดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมโดยตรง มีจำนวนผู้ป่วย 32 ราย
          การวิจัยเริ่มจากจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ดูแลให้เข้าใจและตระหนักถึงพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปของผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมภายในอาคารบ้านพัก เพื่อลดสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม เช่น ไม่ให้มีแสงสว่างจ้ามากเกินไป กำจัดเสียงรบกวนและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ฯลฯ โดยมีการเข้าไปทำปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุเพื่อสร้างสัมพันธภาพก่อนประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นจึงจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุมานั่งรวมกลุ่มกันฟังเพลงที่ผู้สูงอายุคุ้นเคยและชื่นชอบ เช่น เพลงสุนทราภรณ์ ฯลฯ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งเร้าภายนอก โดยมีกิจกรรมเข้าจังหวะ เช่น การเคาะอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียง ฯลฯ และให้ผู้สูงอายุร้องเพลงตาม เพื่อเป็นการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและแขน รวมทั้งช่วยกระตุ้นความจำ เป็นเวลา 5 สัปดาห์
          ร.อ.หญิงชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมินผลโดยใช้แบบประเมินพฤติกรรมกระวนกระวายทั้งก่อนเริ่มกิจกรรม ระหว่างกิจกรรมทุกสัปดาห์ และหลังสิ้นสุดกิจกรรม รวมทั้งหมด 6 ครั้ง ผลการศึกษาพบว่าพฤติกรรมกระวนกระวายหลังสิ้นสุดกิจกรรมลดลงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่ากิจกรรมการบำบัดทางการพยาบาลดังกล่าวมีผลในการลดพฤติกรรมกระวนกระวายในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยในสัปดาห์ที่ 1 และ 2 ระดับพฤติกรรมจะลดลงไม่มาก แต่ในสัปดาห์ที่ 3 ระดับลดลงอย่างเห็นได้ชัด และลดลงเรื่อยๆ เล็กน้อยในสัปดาห์ต่อๆ มา ขณะนี้กำลังทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำกิจกรรมบำบัดทางการพยาบาลโดยใช้ดนตรีและการจัดสิ่งแวดล้อมนี้ไปใช้กับสถาน สงเคราะห์อื่นๆ นอกจากนี้ยังวางแผนทำการวิจัยเพื่อศึกษาว่ามีกิจกรรมใดบ้างที่จะช่วยลดพฤติกรรมกระวนกระวายของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมได้
          สำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมที่บ้าน ร.อ.หญิงชุติมา ได้ให้คำแนะนำว่า กิจกรรม การบำบัดทางการพยาบาลโดยใช้ดนตรีร่วมกับการจัดสิ่งแวดล้อมนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบ้านทั่วไปได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ดูแลต้องมีความเข้าใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ คนทั่วไปมักเข้าใจว่าพฤติกรรมกระวนกระวายเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุที่เริ่มมีภาวะเสื่อม แต่ความจริงแล้วเป็นอาการของโรคซึ่งเป็นความผิดปกติ ควรจะเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วยไปจากพฤติกรรมดังกล่าว นอกจากการฟังเพลงแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ผู้ป่วยสามารถทำร่วมกับผู้ดูแลได้ เช่น การชมภาพยนตร์ การวาดภาพ ฯลฯ
          "ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมบางรายมักจะคิดว่าตนเองถูกทอดทิ้ง ทำให้รู้สึกว่าคุณค่าในตนเองถดถอย การจัดกิจกรรมสันทนาการและการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเพลิดเพลิน ไม่จำเจอยู่กับการนั่งๆ นอนๆ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีคุณค่าและความสำคัญ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข รวมทั้งเป็นการลดภาระในการพึ่งพาผู้อื่นอีกด้วย" มหาบัณฑิตจุฬาฯ เจ้าของรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น กล่าวในที่สุด


pageview  1210928    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved