HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 21/08/2555 ]
'อัมพาตของขาที่เกิดจากโรคหลอดเลือดแดง ใหญ่ในทรวงอก'(ตอนที่1)

นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ 
          คนไข้ที่มาโรงพยาบาลด้วยโรคอัมพาตของขา มีสาเหตุหลายประการ อาจเป็นโรคของไขสันหลัง เช่น เนื้องอก การขาดเลือด การอักเสบจากเชื้อไวรัส มะเร็ง และเนื้องอกของระบบประสาท หรืออาจเป็นสาเหตุจากโรคของกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง แต่มีสาเหตุหนึ่งที่พบได้น้อยและอาจเป็นอันตรายมาก ไม่เพียงแต่ทำให้เป็นอัมพาตของขาตลอดชีวิต แต่อาจทำให้เสียชีวิตถ้าหากรักษาไม่ทันท่วงที โรคนี้คือการเซาะของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ในทรวงอก
          คนไข้มีอาการปวดหลังมาก่อน ปวดรุนแรงมากจนยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีนอาจไม่สามารถทำให้หายเจ็บปวดได้ อาการปวดมักเป็นทันทีทันใด เริ่มที่หน้าอกหรือหลังส่วนบนระหว่างกระดูกสะบักทั้งสองข้าง อาการปวดรู้สึกเหมือนมีการฉีกขาดในร่างกาย และมีการร้าวมาที่หลังส่วนล่าง ที่เอวและไปที่ขาทั้งสองข้าง พร้อมกับอาการปวดคนไข้ก็มีการอ่อนแรงที่ขา สาเหตุของการอ่อนแรงมีสองกลไก คือ การเซาะของเลือดเข้าไปในผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไขสันหลังส่วนเอวอุดตัน ไขสันหลังส่วนเอวและส่วนปลายสุดก็จะขาดเลือด โดยเฉพาะบริเวณไขสันหลังที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อของขาสองข้าง คนไข้จะเป็นอัมพาต ขยับขาไม่ได้ แต่คนไข้ยังมีประสาทสัมผัสที่ขาเป็นปกติ
          อีกกลไกหนึ่งคือ การเซาะนี้จะปิดไม่ให้เลือดไหลมาที่ขาสองข้าง คนไข้จะมีอาการปวดขา ขาเย็นทั้งสองข้าง ต่อมาขาขยับไม่ได้ ถ้าสัมผัสจะพบว่าผิวหนังที่ขาจะเย็นและซีด คลำชีพจรที่ขาหนีบทั้งสองข้างไม่ได้ ในที่สุดกล้ามเนื้อของขาจะตายเพราะขาดเลือด ถ้าหากรักษาโดยการแก้สาเหตุการอุดตันของเส้นเลือดแดง เลือดมาเลี้ยงขาได้ แต่จะนำของเสียที่สะสมในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อกลับเข้ากระแสโลหิต โดยเฉพาะกรดและโปตัสเซียม ทำให้โลหิตเป็นกรด สารที่เกิดจากการสลายของกล้ามเนื้อจะเป็นพิษต่อไต ปัสสาวะจะเป็นสีแดง และพิษนี้จะทำให้ไตวาย โปตัสเซียมจะเข้าไปที่หัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้น คนไข้ก็จะเสียชีวิต โดยปกติเรามีเวลาเพียง 4 ชั่วโมง หลังจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงของขาที่จะแก้ปัญหาอุดตัน นำเลือดมาเลี้ยงขา ก่อนที่กล้ามเนื้อจะตาย และนอกจากเสียขาแล้วยังอาจเสียชีวิตด้วย
          คนไข้ที่เป็นโรคเลือดเซาะเข้าไปในผนังหลอดเลือดแดงใหญ่มักมีความดันโลหิตสูง มักรักษาด้วยยาไม่สม่ำเสมอ คนไข้ไม่มีอาการแม้ความดันสูง แต่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง และที่เป็นอันตรายที่สุดคือ เลือดเซาะเข้าผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอกทันที รุนแรง เหมือนมีการฉีกขาดในร่างกาย อาจปวดมากจนเป็นลมไม่รู้สึกตัว โรคนี้มีอัตราเสียชีวิตสูงมากคือ 1% ต่อชั่วโมง ถ้าเป็นการเซาะในหลอดเลือดแดงส่วนที่ติดกับหัวใจ แต่ถ้าเป็นหลอดเลือดแดงส่วนที่ 3 ที่อยู่ในทรวงอกซ้าย อัตราตายจะลดลง คืออาจเสียชีวิตได้ประมาณ 15% ถ้าหากวินิจฉัยและรักษาด้วยยาและการผ่าตัดไม่ทัน การวินิจฉัยนอกจากประวัติอาการเจ็บป่วยดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ช่วยมากคือ การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยต้องฉีดสารทึบแสง จะช่วยวินิจฉัยได้แม่นยำว่าเป็นโรคนี้จริงไหม และเป็นกลุ่มที่รุนแรงมาก หรือรุนแรงน้อยกว่า แล้วแต่ว่าโรคเป็นที่หลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต้นที่ติดกับหัวใจหรือไม่.

          รศ.นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก คณะแพทยศาสตร์ ข้อมูลจาก  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ที่ปรึกษาศัลยแพทย์ทรวงอก โรงพยาบาลพญาไท 2/          http://www.phyathai.com


pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved