HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 28/03/2555 ]
คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ: 'ไวรัสตับอักเสบซี'

โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
          ไวรัสตับอักเสบซี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้เช่นกัน ในประเทศไทยพบได้น้อยกว่าไวรัสตับอักเสบบีมาก อุบัติการณ์ของไวรัสตับอักเสบซีจากข้อมูลของผู้ที่บริจาคโลหิต ประมาณกันว่าในโลกมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 3 ของประชากรโลก (ประมาณ 170 ล้านคน) ในประเทศไทยพบประมาณร้อยละ 1-5 แตกต่างกันตามภูมิภาค ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะพบได้มากกว่าภาคอื่นคือ ประมาณร้อยละ 5-8 ไวรัสตับอักเสบซีแตกต่างจากไวรัสตับอักเสบบีตรงที่ไวรัสตับอักเสบซีนั้นปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อการติดต่อของไวรัสตับอักเสบซี
          สามารถติดต่อได้โดย
          1.การได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดโดยเฉพาะในช่วงก่อนที่จะมีการตรวจกรองหาไวรัสตับอักเสบซีในเลือดของผู้บริจาค คือก่อนปี 2533
          2.การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัก การเจาะหู เขียนคิ้วถาวร โดยผู้ที่ขาดความรู้ และเครื่องมือไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อให้ถูกต้อง
          3.การใช้ยาเสพติดฉีดผ่านทางผิวหนัง
          4.การฟอกไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 5.การติดต่อทางเพศสัมพันธ์และจากมารดา
          สู่ทารก ซึ่งการเข้าสู่ร่างกายของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีโดยวิธีนี้พบได้น้อยมากแตกต่างจากไวรัสตับอักเสบบี  เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน โดยที่ส่วนมากจะไม่มีอาการ แต่ส่วนน้อยประมาณร้อยละ 10-15 จะเกิดอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเอง
          เมื่อเกิดภาวะตับอักเสบซีเฉียบพลันประมาณร้อยละ 10-15 จะหายขาดจากโรค แต่ส่วนใหญ่ที่เหลือจะเกิดภาวะตับอักเสบแบบเรื้อรัง ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของพังผืดหรือแผลเป็นในตับ โดยที่ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง จะเกิดภาวะตับแข็งภายหลังได้รับเชื้อประมาณ 20 ปี ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำอ้วน เพศชาย หรือมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ร่วมด้วยจะเกิดภาวะตับแข็งได้เร็วขึ้น ภายหลังการเกิดภาวะตับแข็งจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น น้ำในช่องท้อง หรือท้องมาน ตัวเหลือง ตาเหลือง เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อลีบ และมะเร็งตับ การตรวจพบและรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้หายขาดจากโรคได้ แตกต่างจากไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งโอกาสหายขาดจากการรักษานั้นน้อยมาก
          ข้อมูลจาก น.พ.พงษ์ภพ อินทรประสงค์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลพญาไท 2/http://www.phyathai.com


pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved