HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 27/03/2555 ]
รมช.สธ.เผยผลศึกษาความเป็นพิษจากใบมะรุมพบปลอดภัยไม่เกิดพิษเรื้อรัง

 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการศึกษาความเป็นพิษ สารสกัดจากใบมะรุม พบว่าสารสกัดใบมะรุมไม่ก่อให้เกิดอาการพิษเฉียบพลันหรือพิษเรื้อรังต่อสัตว์ทดลอง ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในด้านความปลอดภัยและคุ้มครองผู้บริโภคได้ แต่ผู้ที่มีระดับโปแตสเซียมต่ำและผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติไม่ควรรับประทานเพราะอาจเกิดอันตรายได้
          นายแพทย์สุรวิทย์คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า มะรุมเป็นพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีสรรพคุณต่างๆ เช่นช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระต้านเชื้อแบคทีเรีย (Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนัง และสามารถต้านการก่อมะเร็งของไวรัส EBVได้ ปัจจุบันสมุนไพรใบมะรุมได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในรอบ3 ปีที่ผ่านมา มีการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากมะรุม ในรูปแบบต่างๆ อาทิ แคปซูลผง ชาชงใบมะรุมน้ำมันเมล็ดมะรุม และสารสกัดจากเมล็ด เป็นต้นอย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางด้านพิษวิทยาและความปลอดภัยของสมุนไพรชนิดนี้มีอยู่น้อยมาก ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพประชาชน จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าทดลองความเป็นพิษของสารสกัดจากใบมะรุมในสัตว์ทดลอง เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านพิษวิทยาสำหรับใช้ในการประเมินความปลอดภัยและคุ้มครองผู้บริโภค
          จากการวิจัยสารสกัดจากใบมะรุมด้วยน้ำนั้น พบว่าสารสกัดจากใบมะรุมมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอาการพิษเฉียบพลันหรือพิษเรื้อรังต่อสัตว์ทดลองแต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคที่มีระดับโปแตสเซียมต่ำ และผู้บริโภคที่ป่วยเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจผิดปกติไม่ควรรับประทาน และเนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากใบมะรุมมีหลากหลายชนิด การเลือกซื้อยาสมุนไพรจึงควรดูเลขทะเบียนตำรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอย่างถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่จัดอยู่ในหมวดยาแผนโบราณตรวจดูวันที่ผลิต และวันสิ้นอายุของยา(ถ้ามี) ตรวจดูลักษณะยา เช่น ไม่มีเชื้อรา เม็ดยาไม่บวมบรรจุภัณฑ์ ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุ ควรอยู่ในสภาพดีไม่ชำรุด ฉลากยาต้องระบุแหล่งผลิตอย่างชัดเจน
          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาทดลองความเป็นพิษของใบมะรุมได้ดำเนินการศึกษาพิษเฉียบพลันกับหนูถีบจักรในขนาด20 กรัม/กิโลกรัม เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมด้วยน้ำกลั่น ผลปรากฏว่า สารสกัดด้วยน้ำของใบมะรุมไม่ก่อให้เกิดอาการพิษเฉียบพลันและความผิดปกติของอวัยวะสำคัญ ทางมหพยาธิวิทยาได้ศึกษาพิษเรื้อรังโดยป้อนสารสกัดใบมะรุมแก่หนูแรทพันธุ์วิสตาร์ ในขนาด 10, 100 และ 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วันติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดใบมะรุมขนาดต่างๆไม่มีผลต่อ การเจริญเติบโตการกินอาหาร สุขภาพทั่วไป น้ำหนักอวัยวะสัมพัทธ์และค่าโลหิตวิทยาของหนูเพศผู้และเพศเมียค่าเคมีคลินิกต่างๆ ของ หนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัดใบมะรุมไม่มีความแตกต่างจากกลุ่มควบคุม ส่วนหนูเพศเมียกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน มีระดับโปแตสเซียมในซีรั่มต่ำกว่ากลุ่มควบคุมผลการตรวจอวัยวะภายในทางพยาธิวิทยา ปรากฏว่า กลุ่มหนูที่ได้รับสารสกัดใบมะรุมทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงในบางอวัยวะไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมจากการศึกษาความเป็นพิษสารสกัดใบมะรุมแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากใบมะรุมมีความปลอดภัยสามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพได้


pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved