HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 19/01/2564 ]
ผลกระทบวัคซีนโควิด-19 กับผู้เสียชีวิต

 วันนี้ คงมีการพูดกันในทุกระดับของผู้คนถึงเรื่องว่า เมื่อใดวัคซีนสำหรับโรคระบาดร้ายแรงนี้จะมาถึงประเทศไทยสักที หลายคนมีใจจดจ่ออยู่กับวัคซีนทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นของไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า เอสตร้าเซเนก้า ถึงแม้แต่ จะเป็น สปุตนิก ไฟว์ของรัสเซีย และซิโนแวค ของจีน ซึ่งก็คงไม่มีใครตอบได้ว่า โรงงานผลิตเวชภัณฑ์ในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ จะผลิตมาเพื่อที่จะจำหน่ายจ่ายแจก เป็นการให้ความช่วยเหลือ หรือจะขายเป็นมูลค่าเพื่อกำไรหรือไม่อย่างไร ให้แก่ประเทศใด ผู้ใด ตลอดจนเมื่อใด
          ก็คงเป็นปัญหาที่ไม่มีใครตอบได้ในตอนนี้ เพราะบริษัทเหล่านี้เป็น บริษัทเอกชนเสียเป็นส่วนใหญ่ การดำเนินการทางการตลาดก็ดี ความระมัดระวัง ในการนำวัคซีนมาขายและการลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยให้กับบริษัท เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องเพราะเหตุว่า วัคซีนก่อให้ผลเสียหรือผลข้างเคียง ที่คงจะต้องมีขึ้นในระยะต่อไป อาจทำให้วัคซีนมาถึงมือประเทศยากจนช้าลง เรื่องที่อยากจะกล่าวถึงในวันนี้ คงไม่ใช่เรื่องของวัคซีนแต่เท่านั้น เพราะคงไม่มีใครควบคุมการได้มาของวัคซีนได้เป็นแน่ แต่สิ่งที่จะพูดถึงวันนี้ ก็คือ นโยบายการใช้วัคซีนที่ดูเหมือนจะมีความเห็นแตกต่างกันออกไปว่า ใครควรจะเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อน
          เรื่องที่กล่าวขานกันมากตอนนี้ก็คือ แนวคิดที่ว่าควรจะให้วัคซีนกับ ผู้ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือคนหนุ่มสาวและคนที่อยู่ใน วัยทำงานก่อน เพื่อที่ว่าเขาเหล่านั้นจะได้ออกไปปฏิบัติภารกิจ และสามารถที่จะช่วยเหลือรัฐบาลด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ เสียภาษีตามกำลัง แล้วรัฐ ก็จะนำเอาภาษีที่ได้จากการทำงานของผู้ที่อยู่ในวัยทำงานนั้น มาช่วยในเรื่อง ของสวัสดิการผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาในทางสุขภาพในเวลาต่อไป
          ทฤษฏีนี้จะนำมาใช้และกำลังนำไปใช้ในประเทศอาเซียนบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากอยู่เหมือนกันว่า คนหนุ่มสาวนั้น ถึงแม้ว่าไม่ได้รับวัคซีนก็จะมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพราะได้รับเชื้อน้อยกว่าผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมาก พูดแบบรับเอาง่ายแต่ฟังยากก็คือ ผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยฉกรรจ์
          ถึงแม้ว่าจะได้รับเชื้อ นอนพักอยู่บ้านอาทิตย์สองอาทิตย์ก็อาจจะหาย ได้เอง ถ้าไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง มี ประสบการณ์จริงทางด้านนี้อยู่บ้างเหมือนกัน
          แม้ว่าจะไม่มีการรับรองทางการแพทย์เอาไว้ชัดเจน แต่ผลการวิจัย ในเรื่องนี้พบว่า ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงนั้น มักจะมีความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) หรือเชื้ออื่นๆ ก็ทำได้ดีกว่า
          ในระยะหลังพบว่าผู้ติดเชื้อในวัยทำงานจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตรา การเสียชีวิตก็ยังน้อยกว่า ส่วนในเรื่องของผู้สูงอายุนั้น หลายประเทศ ก็ถือว่าผู้สูงอายุนั้นเป็นผู้ที่รัฐจะต้องเลี้ยงดู อาจจะใช้วิธีให้บำนาญ หรือรัฐสวัสดิการแบบต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือ เขาเหล่านั้นกินบุญเก่าที่เคยทำงานตอนสมัยหนุ่มสาว จนกระทั่งในที่สุด เมื่อเขาสูงอายุขึ้นเขาก็ควรจะได้รับการเลี้ยงดูจากรัฐ แต่เมื่อมองถึงค่าใช้จ่ายในเรื่องของการรักษาพยาบาล ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้ว
          คงเป็นที่ยอมรับกันในผู้รู้สายสุขภาพว่า การดูแลผู้สูงอายุนั้นน่าจะสิ้นเปลือง มากกว่าการดูแลผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน หรือมีร่างกายแข็งแรง เพราะว่าผู้ที่สูงวัย มีภูมิคุ้มกันน้อยลง และมักจะมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการได้รับเชื้อไม่ว่าจะเป็น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือจะเป็นเชื้ออื่นๆ ก็ตาม ได้ง่าย
          ดังนั้นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังตรึกตรองแล้วตั้งแนวคิดกันอยู่ตอนนี้ก็คือ ควรจะทำอย่างไรดี เพราะว่าคงไม่มีทางเลือกพอที่จะทำทุกอย่างไปได้พร้อมกัน เหมือนอย่างประเทศร่ำรวย เช่น ประเทศสหรัฐที่ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยืนยันว่า จะต้องให้คนอเมริกันนั้นได้รับวัคซีนทั่วกันทุกตัวคน โดย ไม่เลือกปฏิบัติ
          มีทางเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน เพราะว่าประเทศใหญ่นั้น เป็นประเทศที่มี ทุนสำรอง และมีรายได้ประชาชาติ ที่เมื่อเทียบกับเงินในการจัดหาวัคซีน ไม่ว่าจะในราคาใดก็ตาม ก็น่าจะเหลือพอ เพราะวัคซีนนี้แม้จะมีราคาแพงสำหรับคนในประเทศกำลังพัฒนาหรือในประเทศยากจน แต่ในประเทศ ที่มีเศรษฐกิจแข็งแรง ค่าใช้จ่ายในการซื้อหาวัคซีนก็คงไม่แตกต่างไปจากการกินอาหารมื้อใหญ่สักมื้อหนึ่งเท่านั้น
          ยิ่งในระยะหลังนี้มีรายงานข่าวออกมาว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน ถ้าเป็น ผู้ที่สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอยู่ มักจะเกิดอาการข้างเคียงถึงขั้น เสียชีวิตได้ จึงมีแนวความคิดอยู่ว่า ทำไมจึงต้องเสียเงินค่าวัคซีน โดยเปล่าประโยชน์กับผู้ที่อย่างไรเสียก็ไม่สามารถที่จะรับวัคซีน แล้วมีชีวิตอยู่ อย่างปกติได้ต่อไป
          แนวความคิดทั้งสองแนวนี้เป็นแนวความคิดที่ค่อนข้างสุดโต่งอยู่พอสมควร และรัฐบาลเองจะใช้วิธีการผสมผสาน คือเอาหมดทั้งสองทางคงจะลำบาก โดยเฉพาะสำหรับประเทศเล็กๆ หรือประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งก็คือ กลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนของเรานั่นเอง
          อินโดนีเซียนั้นก้าวไปในทิศทางหนึ่งอย่างชัดเจน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อาจจะมองไปอีกทิศทางหนึ่ง คงไม่มีใครตอบได้ว่าทิศทางใดเป็นทิศทาง ที่ดีที่สุด ขอให้เพียงการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ที่ได้มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตก็พอ


pageview  1210908    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved