HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 05/07/2564 ]
บทเรียนชีวิตต้อง เสี่ยง นักดื่มยุคโควิด-19

 ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ในวันนี้ กำลังใกล้เข้าสู่ช่วงวิกฤตมากขึ้นทุกขณะเมื่อกำลังของบุคลากรการแพทย์และบริการสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับการเยียวยา หรือดูแลรักษาผู้ป่วย ที่เพิ่มจำนวนต่อเนื่องทุกวัน
          แต่รู้หรือไม่ว่า อีกหนึ่งปัจจัย ที่อาจเป็น สาเหตุหลักที่ชายไทยวัยทำงาน ติดโควิด-19 แต่ต้องได้รับการรักษามากกว่าและยาวนานกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ นั้นอาจมีที่มาจาก "แอลกอฮอล์"
           นั่นเพราะทุกวันนี้ เรามีนักดื่มคนไทย ที่เรียกว่าอยู่ใน "กลุ่มเสี่ยง" สูงถึงประมาณ 2.7 ล้านคน จากคนไทยที่ดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 28% จากทั้งประเทศ หรือประมาณ 15.9 ล้านคน ในกลุ่มอายุ  18 ปีขึ้นไป ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มที่ดื่มระดับใกล้ขีดเส้นอันตราย (harmful drinker) ประมาณ 1.8 ล้านแสนคน ขณะที่กลุ่ม ที่ดื่มถึงขั้น "ติด" สุราอย่างหนัก (alcohol endipendent) อีกประมาณ 9 แสนคน  ซึ่งบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้ คือกลุ่มเฝ้าระวัง ที่ต้องจับตากันทีเดียว
           ซึ่งแม้แต่ละปีประเทศไทยจะสูญเสีย ประชากรที่มีสาเหตุมาจากการดื่มสุราเฉลี่ยกว่า 17,000 คน แต่ดูเหมือนว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่หนักหน่วงในปัจจุบัน จะยิ่งตอกย้ำผลพวงที่เกิดจากพฤติกรรมการเป็นนักดื่มหนักชัดเจนยิ่งขึ้น
           แต่หากใครยังนึกภาพไม่ออกว่า แค่การเป็นนักดื่มหนัก สามารถนำไปสู่ภาวะบกพร่องทางสุขภาพได้ขนาดไหน
           ลองฟังเรื่องเล่าของชายคนนี้ "เอ"  เอ (นามสมมติ) ชายไทยวัย 47 ปี เขาเคยผ่านวิถีนักดื่มมาอย่างโชกโชน  และเกือบทรุดหนักหลังติดโควิด-19 มาแล้ว
           ซึ่งวันนี้ เขายินดีมาถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองที่เพิ่งเผชิญวิกฤตมาสดๆ ร้อนๆ ให้ทุกคนฟัง ผ่านเสวนาออนไลน์ "ถอดบทเรียนชีวิตคนติดเหล้า ในวันที่ติดโควิด-19" ที่จัดโดยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับมูลนิธิ หญิงชายก้าวไกล ศูนย์ศึกษาปัญหา การเสพติด และศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากนักดื่มสู่ นักพักตับ

           เอเริ่มเล่าว่า ตัวเขาดื่มจริงจังครั้งแรกมาตั้งแต่อายุ 18-19 ปี "ตอนนั้นไม่ได้ เรียนหนังสือแล้ว เราก็มาประกอบอาชีพ ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตกเย็นก็มานั่งกินดื่มกับเพื่อน ดื่มมาตลอดไม่เคยขาด เรียกว่า ตื่นเช้ามาสิ่งแรกที่ทำคือดื่มเหล้า หลังเลิกงานก็ต้องดื่ม ต้องมีเหล้าติดบ้านไว้ตลอด รายได้เองก็ไม่ค่อยเหลือเพราะดื่มเยอะนี่เอง"
          แต่แล้วชีวิตพลิกผันเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ร่างกายเขาเริ่มมีอาการแปลกๆ
           "ตอนนั้นมาทำงานรักษาความปลอดภัยอยู่ๆ ไอมีเลือดออกมากไม่หยุด ตามด้วยเวียนหัว อาเจียนเป็นเลือด ตาเหลือง  หน้าคล้ำ ท้องบวมโต จนคนต้องช่วยกันหามส่งโรงพยาบาล ไปส่องกล้อง บอกว่ากระเพาะทะลุ จนเป็นแผล"
           สุดท้ายแพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรค ตับแข็ง แน่นอนว่าทางเดียวที่จะทำให้อาการดีขึ้น คือ ต้องเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด
           "ผมรักษาอยู่นานสองเดือนกว่าจะออกจากโรงพยาบาล แต่กลับมาก็ทำงานได้ ไม่เต็มร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็ต้องเข้า โรงพยาบาลอีกหลายรอบ ครอบครัวก็ลำบากขึ้นเพราะเราเคยเป็นกำลังของครอบครัว อีกทั้งภาระค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นมา เพราะต้องไปหาหมอตลอด"
วิบากกรรมซ้ำซัด เมื่อโควิด-19  มาเยือน

          แม้จะเลิกดื่มเด็ดขาด และพยายามรักษาตัวเองให้ดีที่สุด แต่วิกฤตสุขภาพของเอยังไม่จบ เพราะเขาต้องมาเผชิญวิกฤต
          รอบสอง คือติดโควิด-19 จากคนในครอบครัว เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
          "แม่ติดจากเพื่อนที่รู้จักกัน คุยกันแล้วไม่ได้ใส่หน้ากาก แล้วสองวันต่อมาเขาก็ติดโควิด ต่อมาไม่กี่วันก็เริ่มมีอาการไอตัวร้อน ไปตรวจพบว่าติดเชื้อ ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า จะมารับเรา 5 วันเต็มๆ ยังไม่มีใครมารับ บอกไม่มีเตียง ประธานชุมชนพยายาม
          ประสานหาก็ไม่ได้ เราอยู่บ้าน เชื้อเลย กระจายทั่วทั้งบ้าน" แม่ของเอ เอ่ยเล่าแทน
          ครอบครัวของเขามีสมาชิกอยู่รวมกัน 4-5 คน เมื่อแม่ไม่สามารถไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ ทำให้สมาชิกในบ้านมีโอกาสติดเชื้อสูง สุดท้ายเพื่อนร่วมบ้านในชุมชนอย่าง นัยยา ยลจอหอ ประธานชุมชน วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม อดรนทนไม่ไหว  จึงยื่นมือเข้ามาช่วยประสานและสร้าง เครือข่ายชุมชนเพื่อรับมือปัญหาด้านนี้
           "เรามองว่าเขาดูแลตัวเองไม่ได้ เขามาบอกเราว่าไม่ไหวแล้ว จะไปเอง เราต้องรั้งเขาไว้ พยายามมองหาเครือข่ายเพื่อหาความช่วยเหลือ แต่ช่วงแรกเราพยายามประสานไปหลายทางก็ยังไม่ได้เรื่อง  ห้าวันแล้วเกรงว่าคนในบ้านจะติดกันหมด ยิ่งครอบครัวนี้ไม่มีใครมีรายได้ และสมาชิกเอง ก็สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ประสานไปมาจึงได้เตียงวันรุ่งขึ้น"
          จากการตรวจสอบพบสมาชิกในบ้านมีผู้ติดเชื้อ 3 ราย ซึ่งถูกจัดให้อยู่ที่ โรงพยาบาลสนาม แต่ระหว่างรักษาตัวอยู่ เอ ลืมนำยารักษาโรคตับแข็งไปด้วย จนมีภาวะขาดยา อาการกำเริบ ช่วยเหลือตัวเอง ไม่ได้ อุจจาระ ปัสสาวะเองโดยไม่รู้ตัว  และเมื่อรักษาโควิด-19 หายแล้ว ยังต้องรักษาอาการป่วยจากโรคตับแข็งต่ออีกยาวหลายวัน
          "ไปอยู่โรงพยาบาลสนามได้สิบวัน รพ.วชิระ โทรมาว่าเรามีโรคเกี่ยวกับตับ ใช่ไหม แล้วเขาก็ย้ายเราไปแต่แม้จะรักษาหายแล้ว ก็ต้องอยู่ต่อ เนื่องจากระหว่างรักษาโควิด-19 อาการโรคตับกำเริบ หลงๆ ลืมๆ สับสน หยิบของผิดๆ ถูกๆ จำไม่ได้"
แอลกอฮอล์เพิ่มภูมิคุ้มกัน "บกพร่อง"

           อาการดังกล่าวได้รับการให้ข้อมูล โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชา จิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า เพราะแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร ทั้งตับและกระเพาะอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์ระยะเวลานานๆ ส่งผลต่อภาวะตับอักเสบและนานไปอาจนำไปสู่โรคตับแข็งซึ่งกรณีของ "เอ" มีอาการอาเจียนเป็นเลือด แสดงให้เห็นว่าแอลกอฮอล์ยังมีผลต่อกระเพาะอาหาร รวมถึงเส้นเลือดในหลอดทางเดินอาหาร การเกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะหรือกระเพาะทะลุจึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่นักดื่มต้องระมัดระวัง "จริงๆ แอลกอฮอล์เกิดปัญหาได้ทุกระบบของร่างกาย แต่คนอาจพูดถึงแต่ตับเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อแอลกอฮอล์ส่งผลให้ผู้ป่วยกลายเป็นโรคเรื้อรัง คนที่เป็นโรคเรื้อรัง  พอติดหรือได้รับเชื้อโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโควิด-19 หรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่มาจากโควิด-19 มากขึ้นกว่า  คนปกติกว่าสองเท่าเป็นเหตุผลที่ทำไม คนกลุ่มนี้ต้องได้รับวัคซีนก่อน"
           รศ.พญ.รัศมน เอ่ยต่อว่า แอลกอฮอล์ยังมีผลกับระบบภูมิคุ้มกันด้วย โดยแอลกกอฮอล์ ยังมีผลไปกดการหายใจ หรือกล่าวได้ว่า สำหรับนักดื่มระบบการหายใจจะไม่ดีเท่ากับคนทั่วไป
          "ส่วนตอนที่อยู่โรงพยาบาล แล้วคุณเอ มีอาการสับสน หลงลืมไม่รู้วันเวลาสถานที่ อาจเกิดได้สองประการ นั่นคือ ประการแรกอาจเกิดจากโรคตับที่เป็น ถ้ามีอาการรุนแรงจะมีอาการเพ้อสับสนได้ กับอีกประการ คือ เรื่องแอลกอฮอล์เอง เวลาที่ดื่มมานาน แล้วลดหรือหยุด เช่น กรณีเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือต้องนอนโรงพยาบาลเราต้องงดแอลกอฮอล์กะทันหัน อาจมีอาการถอนรุนแรงที่เกิดจากแอลกอลฮอล์เรื้อรังได้  ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิต"

ลดดื่ม ลดเสี่ยง ลดภาระ

          รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวยอมรับว่าปัจจุบันแม้หลายฝ่ายคนทำงานด้านสุขภาพจะต่อสู้กับโรค และคอยดูแลผู้ติดเชื้อเต็มที่ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ลดลงเลย
           "ในด้านผู้ให้บริการสาธารณะสุขวันนี้ เราแทบไม่มีพื้นที่ที่จะรองรับผู้ป่วยที่มีอาการจากโควิด-19 อีกแล้ว วันนี้เราจึงมุ่งเน้นนำเสนอให้สังคมเห็นตัวอย่างของบุคคลที่อาจต้องเผชิญกับการติดโควิด-19 รุนแรงกว่า เพราะเขามีปัจจัยเสี่ยงเพื่อปกก้อนตัว
           ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็น อีกกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19  เห็นได้จากหลายเหตุการณ์ที่ยืนยันว่า  การดื่มสุราในงานปาร์ตี้ที่ผับ/บาร์ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ปัจจุบันยังพบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น วันละกว่า 4-5 พันราย จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยง มีมาตรการควบคุมโรคส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม"
           เสริมด้วย รศ.พญ.รัศมน ที่เอ่ยว่า  จะพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการหนักและเสียชีวิต ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมอยู่ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ขาดสติและขาดความสามารถป้องกันตัวเองลดลง
           "เราพบข้อมูลว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มโอกาสเสี่ยงติดโควิด-19 ได้ 2-3 เท่า ดังนั้นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนักหากเป็นไปได้ถ้าเราลดการดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อลงได้อย่างมาก ส่วนคนที่มีอาการติดสุรารุนแรง ควรไปสถานพยาบาลปรึกษาแพทย์เพื่อ รับยาช่วยเลิกสุรา เพื่อให้เราสามารถมีสติในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้ หรือสามารถเข้าไปเว็บไซต์ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราได้ที่ www.1413.in.th เพื่อดูข้อมูลหรือขอรับคำปรึกษาได้" รศ.พญ.รัศมน กล่าว
           ปิดท้ายด้วยนัยนา เอ่ยฝากข้อคิด ในฐานะสมาชิกในชุมชนว่า
           "กรณีครอบครัวนายเอ เป็นกรณีที่ เรารู้สึกแล้วว่า คนในพื้นที่ต้องตระหนัก เพราะเริ่มเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงแล้ว ต่อมาจึงมี กระบวนการเชิงรุกมากขึ้น สำหรับคน ในชุมชน อยากฝากว่าการประชาสัมพันธ์การให้ข้อมูลที่ถูกต้องดีที่สุด อย่าปกปิด  ถ้ารู้จะได้ช่วยหาทางที่เกี่ยวข้อง แต่สมาชิกเอง พอรู้ว่าเป็นโควิดอย่าซ้ำเติม เราควรช่วยดูแลเขาเยียวยาเขาให้รอดพ้น เพราะถ้าเขารอดพ้นเราก็รอดพ้น"


pageview  1210874    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved