|
|
|
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 06/09/2564 ] |
|
|
|
|
ค่าบริการดูแลผู้ติดเชื้อระบบ HI เบิกจ่ายตามบริการ จำนวนวันดูแล |
|
|
|
|
สร้างความประหลาดใจอยู่ไม่น้อย เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จับคู่บริการกับโรงพยาบาลต่างจังหวัดให้เข้ามาดูแลผ่านระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation : HI) ต้องเข้าใจ ก่อนว่า โควิด-19 ในระลอกสี่นี้ ผู้ป่วยกระจุกอยู่ใน กทม. และปริมณฑล จึงเกิดปรากฏการณ์เตียงเต็มอย่างรวดเร็ว มีผู้รอเตียงตกค้างหลายหมื่นคน
ผู้ป่วยกลุ่มโควิด-19 สีเขียว ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือ การจัดระบบบริการในรูปแบบ HI โดยมี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบประมาณดำเนินการ ส่วนการดูแลรักษาจะใช้ระบบการแพทย์ทางไกล ซึ่งจะมีบุคลากรทางการแพทย์โทรติดตามอาการผู้ป่วย ไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ครั้ง พร้อมมีระบบส่งยา แต่หากอาการรุนแรงขึ้นจะส่งต่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลต่อไป
"นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี" เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ป่วย HI ส่วนหนึ่ง ถูกจับคู่รับการรักษากับ รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ต้องเข้าใจว่าช่วงนั้น เรามีผู้ติดเชื้อที่รอสายด่วน 1330 จับคู่กับหน่วยบริการรักษาที่บ้านถึงกว่า 3 หมื่นราย
ขณะที่ รพ. และคลินิกใน กทม. ไม่สามารถดูแลผู้ติดเชื้อตกค้างนี้ ได้ทั้งหมด ขณะที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มในทุกวัน สปสช. จึงต้องหา รพ. มาจับคู่ดูแลเป็นการชั่วคราวก่อน ประสาน รพ.หลายแห่ง ในที่สุด รพ.สิชล ได้ตอบรับ โดยจะเป็นหน่วยบริการรับดูแลผู้ป่วยก่อน เพื่อที่ สปสช. จะสามารถส่งยาและอาหารไปช่วยผู้ติดเชื้อ โดยเร่งด่วนได้
ทั้งนี้ สปสช.รวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ค้างสู่ HI ให้เป็นรอบ รวมเป็นจำนวนที่ สปสช. ส่งข้อมูลให้ รพ.สิชล 18,920 ราย โดย รพ.สิชล ต้องนำข้อมูลไปจัดการอีกครั้ง ทั้งตรวจสอบยืนยันตัวตน ที่อยู่ อาการและ การรับการรักษา เนื่องจากมีบางรายได้เข้าสู่การรักษาแล้ว โดยใช้วิธีส่ง SMS ให้ผู้ติดเชื้อยืนยันกลับมาว่าจะร่วมเข้า HI กับ รพ.สิชลหรือไม่ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ ที่ตอบกลับมาและ รพ.สิชลได้ยืนยันตัวตนบริการ 9,454 คน
นอกจากนี้ สปสช. ยังส่งข้อมูลผู้ติดเชื้อให้กับสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม สภากาชาดไทย ประมาณ 13,000 ราย หลังเคลียร์ข้อมูลมีผู้ติดเชื้อโควิดยืนยันตัวตนและเข้าระบบ HI จำนวน 5,600 ราย และพริบตาแทนเจอรีนสหคลินิก โดยมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ที่ สปสช. ส่งข้อมูลผู้ป่วยให้ 11,000 ราย และมีผู้ติดเชื้อโควิดตอบกลับเพื่อรับการดูและ 3,600 ราย
นพ.จเด็จ ย้ำว่า สปสช. จะจ่ายค่าบริการให้ก็ต่อเมื่อมีการยืนยันตัวตนและ จัดบริการเท่านั้น เบื้องต้นเป็นการเหมาจ่ายบริการก่อนเป็นจำนวน 3,000 บาท แต่หากผู้ป่วยระบุว่าไม่ได้รับบริการรายการใดก็จะถูกตัดเป็นรายการไป เช่น ถ้าไม่ได้รับอุปกรณ์ก็จะไม่มี การจ่ายค่าอุปกรณ์ ถ้าผู้ป่วย ได้รับอาหาร 5 วัน ก็จะจ่ายค่าอาหารให้สำหรับ 5 วัน
แต่หาก รพ.ระบุว่า ได้ให้บริการจริงก็นำหลักฐานมายื่นอุทธรณ์ ในการเบิกจ่ายกรณีจ่าย 1,000 บาท/วัน/ คน เป็นเวลา 14 วัน จะเท่ากับ 1.4 หมื่นบาท ค่าอุปกรณ์อีก 1,100 บาท รวมถึงค่ายา ฟ้าทะลายโจรอีก 300 บาท ทั้งหมดเป็น 15,400 บาท ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์เบิกจาก สธ. หากผู้ป่วยอยู่ รพ.มาแล้ว 10 วัน แล้วเข้าระบบ HI ต่ออีก 4 วัน ก็จะจ่ายเพียง 4 วัน แต่หากไม่เกิดบริการ
"นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ระบุว่า สถานการณ์ตอนนั้นฉุกละหุกมาก จำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องความเป็นความตายของประชาชน เอาชีวิตผู้ป่วยให้รอดก่อน เมื่อ สปสช. ประสานมาที่ รพ.สิชลว่าจะรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ก่อนได้หรือไม่ ถ้าโรงพยาบาลสิชลไม่รับ คนเหล่านี้ก็จะนอนอยู่ที่บ้าน ขาดคนดูแล ไม่มียาและลำบากในการหาอาหาร
ซึ่ง รพ.สิชล ตั้งทีมกว่า 100 คน มาทำงานนี้ ซึ่งรายชื่อผู้ป่วยล็อตแรกมีประมาณ 1 หมื่นคน แต่เข้าสู่บริการเพียง 6,500 รายเท่านั้น และพอเราดูแลคนไข้ไปดูแลได้ 4-5 วัน ก็เริ่มมีหน่วยบริการใน กทม. เข้ามารับผ่องถ่ายคนไข้ไปดูแล และขณะนี้ รพ.สิชลก็ไม่ได้รับผู้ป่วยตกค้าง HI มาดูแลแล้ว และที่ว่า รพ.ได้เงินมากกว่า 200 ล้านบาทนั้น ข้อเท็จจริงเราได้รับค่าบริการ HI นี้เพียง 19 ล้านบาท ซึ่ง สปสช. มีระบบ ตรวจสอบการเบิกจ่ายเข้มงวดมาก หากไม่ได้ให้บริการผู้ติดเชื้อจริงก็คงเบิกเงินได้ |
| | |
|
| |