|
|
|
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 27/08/2564 ] |
|
|
|
|
กัญชา-กัญชง ประโยชน์ทางการแพทย์ เดินหน้า 2 ระยะ 3 เฟสสู่เชิงพาณิชย์ |
|
|
|
|
ภาพลักษณ์ของกัญชา กัญชง ในตอนนี้แตกต่างจากในอดีต ที่เป็นของต้องห้าม เป็นยาเสพติด แต่หลังจากมีการ "ปลดล็อก กัญชา กัญชง" ออกจากยาเสพติด และมีนโยบาย ส่งเสริมให้นำมาใช้ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ในภาคอุตสาหกรรม กลายเป็น พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย
กรุงเทพธุรกิจ ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 29 วิถีใหม่เพื่อ สุขภาพและเศรษฐกิจไทย จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค.2564 ได้มี การจัดเสวนา "กัญชา-กัญชง จากนโยบายสู่การ ใช้ประโยชน์
เผยผลวิจัยสารสำคัญในกัญชา
นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สนับสนุน "กัญชา-กัญชง" สู่การใช้ประโยชน์ พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีการพัฒนาพืชกัญชา พัฒนาวิธีตรวจวิเคราะห์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งการปลูกที่เหมาะสมเพื่อคัดเลือกพันธุ์กัญชา สายพันธุ์กัญชาที่ดีมาสู่การสกัดพันธุกรรม พฤกษศาสตร์ เภสัชเวท เคมี เพื่อจัดทำมาตรฐาน THP ทั้งในส่วนดอก ใบ ราก ให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ
รวมถึงทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ทาง ห้องปฏิบัติการ วิจัย พิษวิทยา เคมี เภสัชวิทยา และมีการขึ้นทะเบียนพันธุ์ จัดทำ Seed bank อันนำไปสู่ต้นกล้าสายพันธุ์ดี ได้วัตถุดิบในรูปแบบ แคลลัส ได้สารสำคัญสม่ำเสมอ ไม่มีโลหะหนักและสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง พัฒนาต้นกัญชาสู่เกษตรกร และผลิตภัณฑ์สู่ประชาชน
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัย พบว่าสารสำคัญในใบกัญชา จากต้นกัญชาที่มีอายุมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีสารสำคัญเพิ่มมากขึ้น เมื่อนำใบอ่อนโดยส่วนใหญ่มีสาร THC และCBD มากกว่าใบเพสลาดและใบแก่ เช่น ต้นอายุ 2 เดือน ใบอ่อนจะมี THC (4.5-7.3) CBD (0.02-2.24) ใบเพสลาด THC (1.3-3.0) CBD (0.01-2.0) ใบแก่ THC (1.6-2.4) CBD(0.002-2.5) ส่วน CBN พบสารน้อยมากในใบ โดยใบแก่ พบสาร CBN มากกว่าใบเพสลาดและใบอ่อน (0.002-2.5)
สำหรับสายพันธุ์ที่มีผลต่อปริมาณแคนนาบินอยด์ในใบ โดยพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาว และหางเสือ มีสาร THC และCBN สูง ใบเพสลาด ของพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาว= THC 3.4%w/w CBN =0.022%w/w ใบเพสลาด ของพันธุ์หางเสือ =THC 3.5%w/w CBN = 0.017%w/w ส่วนพันธุ์ตะนาวศรี ก้านแดง และหางกระรอก เป็นพันธุ์ที่พบสาร CBD สูงเพียงสองพันธุ์เท่านั้น ใบเพสลาด ตะนาวศรีก้านแดง =2.1% w/w และใบเพสลาด หางกระรอก = 0.88%w/w
ขณะที่ สารสำคัญในราก พบว่า สาร Friedelin ช่วยต้านการอักเสบ ปกป้องการเกิดพิษต่อเซลล์ตับ แก้ปวด ลดไข้ รากจากเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เลี้ยงเพียง 15-20 วัน พบสาร Friedelin รากในธรรมชาติอยู่ระหว่างการศึกษาหาปริมาณ Friedelin ระหว่างรากหลักกับรากฝอยของสายพันธุ์ไทย 4 พันธุ์
"การศึกษาวิจัยในกลุ่มสารแคนนาพินอยด์ ทั้ง THC/CBD/CBN และอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ ต้านการอักเสบ แก้ปวด คลายกังวล ต้านมะเร็ง ต้านการคลื่นไส้อาเจียน และต้านการชัดได้ ส่วน สารเทอร์ปีน ซึ่งจะมีสาระสำคัญในกลุ่ม Friedelin และอื่นๆ ส่วนใหญ่จะพบในน้ำมันหอมระเหย คาดว่าในปี 2565 จะมีการศึกษาวิจัยแล้วเสร็จ เนื่องจากสารเทอร์ปินมีมากถึง 140 ชนิด ต้องมาศึกษาวิจัยต่อเนื่องที่มีประโยชน์ชัดเจน และกลุ่มสารฟลาโวนอยด์เป็นกลุ่มสารที่มีประโยชน์ในเรื่องการปรุงแต่งกลิ่น ลดการเจ็บ แน่นหน้าอก และกระเพาะอาหาร ต้านมะเร็งได้" นพ.พิเชฐ กล่าว
เช็คTHC-CBDใน10กลุ่มอาหาร
นพ.พิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีการให้บริการตรวจวิเคราะห์อาหาร เพื่อกำหนดปริมาณสารกัญชาให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด โดยอาหารและเครื่องดื่ม สามารถวิเคราะห์ปริมาณ THC และ CBDใน 10 กลุ่มอาหาร ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ธัญพืชสำหรับอาหารเช้า 2.ผลิตภัณฑ์ขนมอบชนิดไม่หวาน 3.ผลิตภัณฑ์ขนมอบชนิดหวาน 4.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากโปรตีนจากเมล็ดกัญชง
5.เครื่องดื่มจากธัญชาติ ยกเว้น ชา กาแฟ ชาสมุนไพร 6.ขนมขบเคี้ยวที่มีมันฝรั่ง ธัญชาติ แป้ง 7.ขนมขบเคี้ยวที่มีถั่วเป็นส่วนประกอบหลักเมล็ดพืชแปรรูป 8.ผลิตภัณฑ์อิมัลชันประเภทน้ำในน้ำมัน สำหรับใช้ทาหรือป้าย 9.สกัดและผลิตภัณฑ์ ทาแซนวิช และ 10. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร- Oil supplement ยกเว้น น้ำมันจากเมล็ดกัญชงใช้บริโภคโดยตรงมีการปรับค่าต่ำลงจากร่างประกาศ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของกรมวิทยาศาสตร์ฯ
สถาบันกัญชาเดินหน้าสู่เชิงพาณิชย์
นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวถึง กัญชา กัญชง นโยบายระดับประเทศ สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคตว่า ตลอด 1 ปี ที่ได้มีการขับเคลื่อนกัญชากัญชงในทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงเกษตรฯ ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของพันธุ์พืช การปลูก และตอนนี้จะมีการเชื่อมโยงไปยังกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอื่นๆ ในการส่งเสริมพัฒนากัญชากัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนของกัญชานั้น ตอนนี้จะสามารถดำเนินการได้ในเรื่องของการแพทย์เท่านั้น หากทำในเชิงพาณิชย์ก็ต้องเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่กัญชงสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรมได้ทันที แม้จะไม่ได้เกี่ยวกับทางการแพทย์
"นโยบายในการดำเนินการตอนนี้มี 2 ระยะ คือ การเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้พืชเศรษฐกิจกัญชาและกัญชง นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้ โดยเฉพาะในส่วนของกัญชาทางการแพทย์นั้น ขณะนี้ ได้ดำเนินการ 3 เฟส โดยเฟสแรก ขับเคลื่อน ด้วยระบบเขตสุขภาพ และเฟส 2 เพิ่มการขับเคลื่อนด้วยหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น GPO มหาวิทยาลัย องค์การยาสูบ ส่วนเฟส 3 เพิ่มขับเคลื่อนด้วย หน่วยงานเอกชน ในภาคเอกชนได้มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างก้าวหน้า" นพ.กิตติ กล่าว
ไทม์ไลน์ของการดำเนินการเมื่อ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น กองพัฒนายาไทย ได้เริ่มดำเนินการทำให้กัญชา เข้าถึงการแพทย์ ผ่านระบบเขตสุขภาพ และให้หน่วยงานรัฐซื้อ-ขายได้ ก่อนจะ ส่งต่อไปยังภาคเอกชน หรือ คลินิก และโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ
ถอดบทเรียนกัญชาทางการแพทย์
กรุงเทพธุรกิจ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่าโรงพยาบาลได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขในการนำกัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งตั้งแต่ปี 2562 ได้มีการศึกษาวิจัยการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ได้มีการนำมาทดลองปลูกในระบบต่างๆ ทั้งระบบปิด ระบบกรีนเฮาส์ และระบบเปิด รวมถึงศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ
จากการถอดบทเรียนกัญชาทางการแพทย์ อภัยภูเบศรโมเดล พบว่า กัญชาต้องปลูกแบบหัวร้อน ตีนเย็น คือ ดิน สารอาหารครบถ้วนร่วนซุย แสงแรงจ้า พาได้สาร ความชื้น ต้องพอดี ห้ามสูงตอนมีดอก โรคและแมลง สารชีวภัณธ์ควบคุม และอุณหภูมิ ต้องไม่ร้อนเกินไป ซึ่งการปลูกทั้งระบบปิด ระบบเปิด และกรีนเฮาส์ได้ผลค่อนข้างดี
อย่างไรก็ตาม สารสำคัญในการกัญชามีทั้งส่วนที่เป็นยา และไม่ได้เป็นยา ดังนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในเรื่องกัญชาอย่างเร่งด่วน เพราะหากปลูกแล้วสารสำคัญในกัญชามีน้อยก็จะไม่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้อย่างดี ตอนนี้สิ่งที่สังคมต้องการ คือ กัญชาที่ใช้ในเชิงเสริมภูมิคุ้มกัน บำบัดโรคต่างๆ หากเร่งวิจัย จะทำให้เกษตรกรมีเป้าหมายชัดเจนในการปลูกมากขึ้น และต้องสำรวจตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย |
| | |
|
| |
|
pageview 1220036 |
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO) ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th | | |
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved
|
| |