HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 21/09/2564 ]
เปรียบเทียบ ไฟเซอร์-ซิโนฟาร์ม ฉีดวัคซีน เด็กไทย ป้องกันโควิด

  20 ก.ย.2564 เป็นวันแรกที่ "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ได้ดำเนินโครงการวิจัย"VACC 2 School" นำร่องฉีดวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ให้กับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10-18 ปี จำนวน 2,000 คน จากโรงเรียนสตรีวิทยา ศูนย์การเรียนรู้รุ่งอรุณ และโรงเรียนสันติสุข โดยการฉีดวัคซีนดังกล่าว จะฉีดให้เฉพาะในโรงเรียนพื้นที่ กทม.และติดตามอาการผ่าน sms สอบถาม 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน รวมถึง ติดตามการติดเชื้อในครอบครัวและโรงเรียน
          กรุงเทพธุรกิจ  ส่วนเด็กต่างจังหวัดยังไม่ได้ฉีด เนื่องจากอยู่ระหว่างรอสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาขึ้นทะเบียนและหวัง อย.จะรับรองโดยเร็ว จะได้ฉีด ให้เด็กนักเรียนในต่างจังหวัด จะได้ลดช่องว่างในพื้นที่
          ขณะที่วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มี ฉีดให้แก่เด็กกลุ่มเด็กและวัยรุ่นไปบ้างแล้ว โดยเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ และเตรียมฉีดให้เด็กอีก 5 ล้านคนทั้งประเทศนั้น จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งมีการนำเข้ามาในเดือนก.ย.นี้ และถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวเดียวในบรรดาวัคซีนทั้งหมดที่รัฐบาลจัดซื้อจัดหา เพื่อมาฉีดให้ประชาชนสามารถฉีดให้แก่เด็กได้
          ฉะนั้น ปัจจุบัน วัคซีนที่ฉีดให้แก่เด็กไทยอายุตั้งแต่ 10-18 ปี จะมีเพียง 2 ชนิด คือ วัคซีน "ไฟเซอร์" ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ส่วนวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" จะเป็นวัคซีนเชื้อตาย โดยผลของ การฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ให้แก่เด็กนั้น เบื้องต้น ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่ามีฉีดแล้วจะเป็นเช่นใด มีผลข้างเคียงจากวัคซีนทั้ง 2 ชนิดหรือไม่?
          กลุ่มเด็กที่จะได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์
          สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการวัคซีน ในกลุ่มเด็ก 12-17 ปี จะดำเนินการในกลุ่มนักเรียนทั้งสังกัดภาครัฐและเอกชน กลุ่มอาชีวศึกษา และโรงเรียนสังกัดอื่นๆ โดยเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เรียนชั้นมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เช่น ปวช. มีประมาณ 4.5 ล้านคน โดยจะฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ให้ครอบคลุมเพื่อเปิดภาคการศึกษา
          ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความต้องการจาก ผู้ปกครองแล้วเสร็จใน 1-2 สัปดาห์ และแจ้งสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัด/สำนักอนามัย กทม. รวบรวมจำนวนนักเรียน ส่งให้กรมควบคุมโรคจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ คาดว่าจะเริ่มฉีดได้วันที่ 4 ต.ค.นี้
          ต่างประเทศฉีดวัคซีน"ไฟเซอร์"
          ข้อมูลจากบีบีซี ไทย รายงานว่าคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) มีมติแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี 200,000 คน ที่มี โรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กในกลุ่มอายุเดียวกันที่มีสุขภาพดี โดยให้เหตุผลว่าในตอนนี้ ผลดีด้านสุขภาพที่จะได้ จากการฉีดวัคซีนถือว่ายังน้อยเกินไป
          ขณะที่ รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังรอการตัดสินใจจากคณะหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (chief medical officers) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาล คาดว่าจะได้ข้อสรุปอีกไม่กี่วัน
          ก่อนหน้านี้รัฐบาลตัดสินใจให้วัคซีนคนกลุ่มอายุต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีน และภูมิคุ้มกันมาโดยตลอด แม้เด็กจะมีความเสี่ยง ติดโควิด แต่โอกาสที่พวกเขาจะล้มป่วยหนัก มีน้อยมาก นั่นหมายความว่าต้องเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนในการให้วัคซีนแก่พวกเขา
          ผลข้างเคียงที่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง
          ผลงานวิจัยในต่างประเทศ ในกลุ่มคนที่ได้รับ วัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่า มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่คนจะมีอาการกล้ามเนื้อ หัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบบ่อยกว่าในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการก็มักจะหายไปเองในไม่กี่วัน ดังนั้น ไม่มีวัคซีนหรือยาตัวไหนที่ปลอดภัย 100%
          สถิติจากสหรัฐ พบว่าจำนวนเด็กที่เจอผลข้างเคียงน้อยมาก ในจำนวนเด็กอายุ 12-17 ปี 1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จะมีราว 60 คนด้วยกันที่เจออาการข้างเคียงนี้ (8 คนในจำนวน 1 ล้านคนสำหรับเด็กผู้หญิง) อัตราเกิดอาการนี้ สูงกว่าในหมู่เด็กอายุน้อยกว่า นั่นเป็นสาเหตุ ที่ตอนนี้ทางการแนะนำให้เด็กอายุ 16-17 ปี เข้ารับวัคซีนได้
          รายงานอุบัติการณ์ของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดสของการฉีด พบในเพศชาย เป็นส่วนใหญ่ อาการพบได้ภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีนแต่ส่วนใหญ่พบใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐ)
          นอกจากนี้ยังพบ ในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก ซึ่งพบในเพศชาย (12-17 ปี) มีอัตราการเกิดสูงสุด ในผู้ชายมีอัตราการเกิด 32.4 ต่อ 1 ล้านโดส ผู้หญิง 4.2 ต่อ 1 ล้านโดส กลุ่มรองลงมาที่พบ คือ อายุ 18-24 ปี และจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไม่มีรายงานในผู้สูงอายุ
          ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดที่คณะ ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยเข้าข่ายอาการรุนแรง คือ "กลุ่มเนื้อหัวใจอักเสบ" ซึ่งในประเทศไทย พบแล้ว 1 ราย โดยเด็กชายอายุ 13 ปี มีภาวะ โรคอ้วน แต่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทัน ปัจจุบัน หายเป็นปกติแล้ว
          "ซิโนฟาร์ม"ฉีดให้โรงเรียน89แห่งกทม.
          ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ กล่าวถึงโครงการ "VACC 2 School" นำร่องฉีดวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ให้กับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10-18 ปี ที่อาคาร 9 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นจุดบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่า โครงการวิจัยในการฉีดวัคซีน ซิโนฟาร์มสำหรับเด็กอายุระหว่าง 10-18 ปีนี้ มีการศึกษาในต่างประเทศแล้ว แต่ประเทศไทย ยังไม่มี ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำ โครงการวิจัย ซึ่งผ่านคณะกรรมการจริยธรรม ในมนุษย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เองแล้ว
          "จะเริ่มฉีดให้กับนักเรียนและโรงเรียน ที่มีการลงทะเบียนเข้ามา เบื้องต้นดำเนินการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยนำร่องฉีดวัคซีน ซิโนฟาร์ม ให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งสิ้น 89 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 57,840 ราย ส่วนเด็กต่างจังหวัดนั้น อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) พิจารณาทะเบียนเพิ่มเติมท ซึ่งหวังว่า อย.จะรับรองโดยเร็ว" ศ.นพ.นิธิ กล่าว
          ผลข้างเคียง "ซิโนฟาร์ม" ในเด็ก
          สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็ก ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ทราบกันอยู่แล้วว่า วัคซีนชนิดเชื้อตาย มีการใช้กันมานานในวัคซีนชนิดอื่นๆในเด็ก ทั้งไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบ พิษสุนัขบ้า เป็นต้น ซึ่งความปลอดภัยสูงมาก อาการข้างเคียงก็ต่ำ เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ความรุนแรงต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์มที่จะนำมาใช้ในเด็กมี การศึกษาในต่างประเทศ พบว่ามีความปลอดภัย ไม่พบอาการข้างเคียงในเด็กมากนัก เบื้องต้นมี ชิลี ศรีลังกา จีน และยูเออี พบอาการข้างเคียง 0.2%
          ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 1 กับ 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ส่วนการพิจารณากระตุ้นเข็ม 3 ในเด็ก ขึ้นอยู่กับการระบาดจากนี้ในอีก 4-6 เดือนข้างหน้า ส่วนการนับวัคซีนในโครงการของ ราชวิทยาลัย คาดว่าจะมีเด็กรับวัคซีนรวม 108,000 คน โดยส่วนใหญ่ของการรับวัคซีนนี้ทีทั้งเด็กมัธยมต้น และมัธยมปลาย ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เด็กนักเรียนได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติในโรงเรียน
          อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยซิโนฟาร์ม ในเด็กนั้น โรงเรียนแพทย์อื่นๆ สามารถศึกษา วิจัยได้ แต่ต้องมีการขอคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์เหมือนของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และประสานเรื่องวัคซีนเข้ามา ทั้งนี้ สำหรับ วัคซีนซิโนฟาร์ม ก่อนหน้านั้นได้ผ่านการ ขึ้นทะเบียนกับ อย. สำหรับการฉีดในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป


pageview  1220035    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved