HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 21/08/2555 ]
แก้'วัยรุ่น'ท้องไม่พร้อมเริ่มที่ครอบครัว-ความเข้าใจ

ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ยังคงเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายพยายามหาทางป้องกันและแก้ไข เพราะในขณะนี้ ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียที่มีสถิติการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในหญิงที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี เฉลี่ยปีละ 1 แสนคน และไม่น่าเชื่อว่าสถิตินี้ ส่งผลให้ประเทศไทยพุ่งขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก รองจากแอฟริกา
          ทว่าปัญหานี้กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าในปี 2553 ผู้หญิงซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร  มีจำนวนร้อยละ 13.76 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)  ที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10  นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กหญิงที่ตั้งครรภ์มีช่วงอายุอยู่ในวัยอ่อนเยาว์ลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากขึ้นทุกๆ ปี จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาวัยรุ่น โดยเฉพาะในเรื่อง "ปัญหาพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่น" กำลังจะกลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน
          ขณะเดียวกัน หากตรวจสอบประเด็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือข่าวที่นำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียทั้งหลาย พบว่าประเด็นปัญหาวัยรุ่นถูกนำมาตีแผ่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็กผู้ชายรุมโทรมและข่มขืนเด็กผู้หญิง หรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรจนตั้งครรภ์ การทำแท้ง
          และที่เป็นข่าวเกรียวกราวบนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ คือเรื่องการแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมบนรถเมล์ การไปเช่าบ้านหรือโรงแรมเพื่อมีเพศสัมพันธ์กันของวัยรุ่น ตลอดจนการปล่อยคลิปของเด็กนักเรียน นักศึกษาที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งกำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          อีกทั้งยังรวมไปถึงปัญหาการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ อาทิ โรคเอดส์ ที่ขณะนี้ตัวเลขวัยรุ่นไทยติด "โรคร้าย" นี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย กระนั้นก็ดีหากมองปัญหาพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมในกลุ่มวัยรุ่นของไทยนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากในปัจจุบันเด็กวัยรุ่นไทยส่วนหนึ่งมองว่าการแสดงออกทางพฤติกรรมทางเพศถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เนื่องจากเด็กเหล่านี้ได้ซึมซับรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาจนลืมรักษาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย ที่ผู้ใหญ่จะสอนเด็กผู้หญิงไว้ว่าต้องรักนวลสงวนตัว
          สอดคล้องกับแนวคิดของ อาจารย์ทรงเกียรติ จรัสสันติจิต ผู้ช่วยคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า สื่อ และเทคโนโลยี ข่าวสารที่ส่อไปทางยั่วยุ และล่อแหลม ส่งผลให้เยาวชนมีพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไป บางรายมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนี้จะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเยาวชน
          ขณะที่ นพ.สุริเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าการรณรงค์ที่จะได้ผลจริงต้องปลูกฝังมาจากครอบครัวและโรงเรียน จิตสำนึกที่สามารถป้องกันวัยรุ่นได้ คือจิตสำนึกในส่วนของพ่อแม่และจิตสำนึกของส่วนของครู การสร้างภูมิคุ้มกัน การเรียนรู้ทักษะในการใช้ชีวิต   ที่ถือเป็นเกราะป้องกันให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้อง
          ทั้งนี้ โครงการรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะประเด็นการมีความพร้อมตั้งแต่การครองคู่ เพื่อเสริมสร้างครอบครัวที่อบอุ่น และลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ล่าสุดทรงแต่งตั้งให้ นางนวลพรรณ ล่ำซำ เป็นหัวหน้าคณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนการรณรงค์และประชาสัมพันธ์โครงการรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นฯ
          นางนวลพรรณ กล่าวว่า ด้วยพระกรุณาธิคุณของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ ที่ทรงประทานพระดำริให้ดำเนินการขับเคลื่อนการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ โครงการรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ หรือ STOP TEEN MOM หยุดการ ตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น มาตั้งแต่ปี 2553  ที่ผ่านมา
          โดยที่โครงการนี้มีเป้าหมายหลักคือ การลดหรือชะลอปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นของสังคมไทย และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ได้มีการจัดตั้ง "กองทุนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น" ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาดังกล่าวจากทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป
          อย่างไรก็ตามในระยะแรก คณะทำงานฯ ได้ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เช่น การสร้างวิทยากรเครือข่ายเยาวชน, กิจกรรมเวทีเสวนา, กิจกรรมรณรงค์ ROAD SHOW ในสถานศึกษา, กิจกรรมประชาสัมพันธ์ ผ่านบทละครโทรทัศน์สำหรับเยาวชน เรื่อง "น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์" เป็นต้น โดยที่คณะทำงานได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ให้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ  อย่างหลากหลาย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ได้รับรู้ และเข้าใจถึงสภาพปัญหา ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นระยะยาว
          ขณะเดียวกันคณะทำงานฯ ได้ติดตามประเมินผลกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเสวนา "Think Before LOVE" (เพราะรักไม่ใช่เรื่องแค่คนสองคน), กิจกรรม "ลองท้องมั้ย" (แล้วเธอจะรู้สึก), กิจกรรมรณรงค์ เนื่องในวันครอบครัว ปี 2555, กิจกรรม Love Say Yes Sex Say No : คิดให้ได้ รักให้เป็น, กิจกรรมสร้างเครือข่ายเยาวชนในสถานศึกษา (โรงเรียนต้นแบบ)
          นางนวลพรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมจัดทำและเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์  WWW.STOPTEENMOM.COM  และทางเฟซบุ๊ค  www.facebook.com/stopteenmomofficial กิจกรรมผลิตและเผยแพร่สื่อรณรงค์ STOP TEEN  MOM  หยุดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น  ทั้งในส่วนที่เป็นภาพยนตร์โฆษณาสำหรับโทรทัศน์  สปอตวิทยุ ตลอดจนสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ
          และล่าสุด ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทำการผลิตและเตรียมเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ชุดใหม่ ชื่อชุด A - B ซึ่งมีกำหนดจะเผยแพร่ผ่านโรงภาพยนตร์ และช่องทางอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยได้เผยแพร่ในช่วงเดือน ส.ค.นี้ซึ่งเป็นช่วงเดือนแห่งวันแม่แห่งชาติ "การรณรงค์ของโครงการต้องการสื่อให้เห็นว่า หากวัยรุ่นเลือกทางเดินที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ พวกเขาจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เช่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเอง คือ อาจหมดโอกาสในการศึกษาไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผลกระทบต่อครอบครัวคือ พ่อแม่ต้องเสียใจที่ลูกสาวตั้งครรภ์ไม่พร้อมในช่วงวัยรุ่น และผลกระทบทางสังคมคือ รัฐต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กที่ถูกนำมาทอดทิ้งตามกองขยะหรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม และไม่สามารถเลี้ยงลูกได้" นางนวลพรรณ กล่าวย้ำ
          ทั้งนี้ภารกิจของคณะทำงานชุดนี้ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะลดหรือชะลอปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นของสังคมไทยให้น้อยลงที่สุด และอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10
          การรณรงค์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง และทำอย่างต่อเนื่อง จะเป็นช่องทางที่ช่วยให้เยาวชน และวัยรุ่นได้ตระหนักว่า หากเลือกเดินทางผิด ในการมีเพศสัมพันธ์เมื่อยังไม่ถึงเวลาอันควร ก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา และยิ่งทำให้วัยรุ่นมีความเข้าใจในเรื่องนี้มากเท่าไร ก็จะมีส่วนป้องกันปัญหาได้มากขึ้นเท่านั้น
          "เป้าหมายคือ 'การลดหรือชะลอปัญหา การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น"


pageview  1210959    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved