HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 01/10/2555 ]
พบตะกั่ว'คลิตี้'กระทบสมอง แนะตรวจเด็กใกล้'โรงงาน'

 ศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดเสวนาเรื่อง "สารพิษในสิ่งแวดล้อมและการคุกคามพัฒนาการเด็ก" ถอดประสบการณ์จากงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ด้านสารเคมีในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่กระทบต่อสุขภาพและก่อให้เกิดความผิดปกติในเด็ก เช่น กรณีสารพิษตะกั่วบ้านคลิตี้ และสารพิษตะกั่วจากโรงงานคัดแยกชิ้นส่วนของเสียอันตราย
          นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากกรณีทารกวัย 8 เดือน ซึ่งเติบโตในโรงงานคัดแยกขยะอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีด้วยอาการชักจากพิษสารตะกั่ว ซึ่งแพทย์ตรวจพบปริมาณตะกั่วในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 16 เท่า ทางศูนย์วิจัยฯ จึงได้ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารตะกั่วในเลือดของเด็กเล็ก 165 คน ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าว พบเด็กผู้ชาย ร้อยละ 58.1 และในเด็กผู้หญิง ร้อยละ 30.4 มีสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ ที่กำหนดไว้ 10 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
          เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ได้รับสารพิษตะกั่วสะสมในร่างกาย ส่งผลต่อระดับไอคิวและการทำงานของระบบประสาท ทำให้เด็กสมาธิสั้น และกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้ ดังนั้นทางหน่วยงานราชการควรพิจารณาแนวทางในการตรวจคัดกรองปริมาณตะกั่วในเลือดเด็ก โดยบรรจุให้เป็นการตรวจสุขภาพประจำปี หรือให้ตรวจควบคู่ไปกับช่วงที่มารับวัคซีนเมื่ออายุ 1 และ 5 ขวบ โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม และควรพิจารณาว่าภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมแบบรับค่าใช้จ่ายอย่างไร
          "ต้องยอมรับว่าเรื่องมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อเด็ก เฝ้าระวังได้ยากเพราะส่งผลกระทบในระยาว ทางภาครัฐจึงควรมีการตรวจคัดกรองปริมาณสารตะกั่วในเลือดเด็กเล็ก ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจร่างกายเด็กที่อาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาคร พบว่าจริงๆ แล้วชาวบ้านรู้ดีว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แต่สิ่งสำคัญคือชาวบ้านไม่รู้ว่าจะระวังและป้องกันตนเองจากการได้รับสารพิษอย่างไร"
          พญ.นัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้จะต้องมีการพูดคุยกันว่า ทำอย่างไรจึงจะสื่อสารไปยังประชาชนให้มีความรู้และความเข้าใจถึงผลกระทบจากสารพิษโลหะหนัก เพราะเมื่อประชาชนได้รับรู้ถึงโทษและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เชื่อว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะลดน้อยลง ขณะเดียวกันในส่วนของระบบคัดกรองก็ต้องมีการคุยกันว่าจะมีวิธีดำเนินการอย่างไร
          เนื่องจากการเจาะเลือดจากเด็กเพื่อตรวจหาสารตะกั่วนั้น ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ระบบคัดกรองในเรื่องดังกล่าวจึงต้องมีการพูดคุยถึงกระบวนการและขั้นตอนอย่างชัดเจน โดยอาจให้สิทธิกับเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มการปนเปื้อนสารตะกั่วสูงให้สามารถรับการตรวจคัดกรองได้ทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่หากได้รับสารพิษตะกั่ว จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ส่วนความรุนแรงของสารพิษนั้น จะขึ้นอยู่กับว่าได้รับสารพิษติดต่อกันนานเท่าไหร่ เพราะหากได้รับไม่ต่อเนื่องหรือนานๆ ครั้ง ร่างกายอาจกำจัดตะกั่วออกไปได้เอง แต่หากเกิดการสะสมในระยะเวลานานก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรง
          ด้าน นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จริงๆ แล้วสิทธิ์ในการตรวจคัดกรองสารพิษตะกั่วในเด็กนั้น ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักประกันสุขภาพของ สปสช.แล้ว โดยหากพบว่าเด็กอยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าอาจได้รับสารพิษตะกั่ว ก็สามารถส่งตรวจคัดกรองได้ทันที แต่ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คิดว่าอาจเกิดจากการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองสารพิษตะกั่วในเลือดของผู้ป่วยเด็ก หากทำโดยการเจาะเลือดและนำไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทางกรมควบคุมโรคจึงกำลังหาแนวทางและวิธีตรวจคัดกรองโรคในพื้นที่เสี่ยงอย่างง่าย เพื่อช่วยให้มีการตรวจคัดกรองมากขึ้น
          ในปี 2556 กรมควบคุมโรค ได้จัดทำแผนการตรวจคัดกรองเด็กในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อหาค่าเฉลี่ยสารตะกั่วในเลือดของเด็กไทย และทำการสรุปค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ เพราะต้องยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ที่ในร่างกายของคนเราจะไม่เกิดการปนเปื้อนของสารพิษ แต่สิ่งที่ต้องทำก็คือการวางมาตรการเพื่อหาทางลดระดับสารพิษในร่างกายให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสารพิษในสภาพแวดล้อมสามารถป้องกันได้
          เด็กที่ได้รับสารพิษตะกั่วสะสมในร่างกาย ส่งผลต่อระดับไอคิวและการทำงานของระบบประสาท ทำให้เด็กสมาธิสั้น


pageview  1210969    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved