HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ฐานเศรษฐกิจ [ วันที่ 23/09/2564 ]
ธุรกิจอาหาร บอบช้ำหนัก คุ้มเข้มความปลอดภัย รักษาตลาด 5 แสนล.

 โควิด-19 ฉุดธุรกิจอาหารของไทยมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทสะดุด การคลายล็อกดาวน์ระลอกล่าสุด จะต้องเดินอย่างไรเพื่อไม่ให้ต้องกลับมาล็อกดาวน์ใหม่ อ่านได้จากการเปิดใจของนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย
          ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารที่บอบช้ำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 63 เฉพาะในส่วนของร้านอาหารที่เป็นสมาชิกของสมาคมภัตตาคารไทยเองที่มีกว่า 4 หมื่นคน ส่วนใหญ่เคยมีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ยังไม่รวมกับธุรกิจร้านอาหารทั่วไป ร้านอาหารในศูนย์การค้า ร้านอาหารรายเล็กที่เป็นห้องแถวและสตรีทฟู้ดอีกกว่า 4 แสนราย  ซึ่งโดยรวมแล้วไทยมีจำนวนธุรกิจร้านอาหารกว่า 5.5 แสนรายทั่วประเทศ และส่วนใหญ่จะอยู่หนาแน่นในเมืองใหญ่ ซึ่งก็อยู่อยู่ในพื้นที่ 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มและสีแดง
          เหลือมูลค่าตลาดแค่ 5 แสนล.
          นับจากเกิดโควิดเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ จากเดิมที่รายได้ของธุรกิจอาหารจากก่อนเกิดโควิด หรือราวปี 62 จะอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านบาท เป็นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ส่วนใหญ่จ่ายเป็นค่าอาหารในโรงแรม อยู่ที่ 5-6 แสนล้านบาทต่อปี และรายได้ของร้านอาหารจากการบริโภคในประเทศอยู่ที่ราว 5-5.5 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมารายได้ที่หายไปเลยคือ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะเริ่มมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในบางพื้นที่ อย่าง ภูเก็ต สมุย แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่มากนัก ก็ยังทำให้รายได้ก็ยังน้อยมาก รายได้ของธุรกิจอาหารของไทยจึงเหลืออยู่เพียงการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น
          โดยจนถึงวันนี้การบริโภคอาหารภายในประเทศประเทศต้องบอกว่ามูลค่าตลาดซึ่งอยู่ที่ราว 5-5.5 แสนล้านบาทไม่ได้ลดลงเลย แม้ธุรกิจจะเผชิญกับโควิดมานานแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ใช้ในเรื่องของค่าอาหารไม่ได้ลดลง  และคนเลือกที่จะสั่งอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่คนยังอยู่ในช่วงการทำงานแบบ Work from Home ส่วนบางร้านที่เคยขายมื้อเย็น อย่างร้านข้าวต้มตอนเย็น ก็ปรับเวลามาขายให้เร็วขึ้น เพื่อให้มีช่วงเวลาขายได้มากขึ้นเพื่อลดปัญหาติดเรื่องของเคอร์ฟิว
          ขณะที่ร้านอาหารที่ปิดไป ส่วนใหญ่ก็จะปิดหน้าร้าน โดยเฉพาะในย่านที่เป็นหอพักหรือสถานที่ทำงาน ที่มีลูกจ้าง 2-3 คน เพราะถึงเปิดไปก็ไม่มีลูกค้า แต่กลุ่มนี้หันไปทำโฮมคิทเช่น ซึ่งเป็นการใช้บ้านตัวเองทำอาหารขายแทน ซึ่งจากข้อมูลของแอพพลิเคชั่นโรบินฮู้ด ในตอนแรกที่เปิดให้ร้านสตรีทฟู้ดและโฮมคิทเช่นเขามาลงทะเบียนและไม่มีคิดค่าGP พบว่ามีเข้ามาลงทะเบียนมากถึง 8-9 หมื่นร้าน แสดงให้เห็นว่าคนหันมาทำโฮมคิทเช่น เยอะมากทดแทนร้านอาหารที่ช่วงหนึ่งมีการปิดหน้าร้านไป
          ส่วนร้านอาหารที่ปิดกิจการแบบถาวรจริงๆ คาดว่าจะอยู่ที่หลักหมื่นรายเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นร้านกลางคืน ที่ทนแบบรับต้นทุนค่าเช่าไม่ไหว ซึ่งร้านในกลุ่มนี้ ถ้าไม่สามารถเปิดให้บริการได้ถึงตี 1 หรือตี 2 เหมือนในอดีตก็ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เพราะเปิดไปก็ไม่คุ้ม
          ที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดโควิดรัฐบาลมีการล็อกดาวน์และคลายล็อกดาวน์มาอย่างต่อเนื่องจากตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ซึ่งธุรกิจอาหารช่วงที่ขายดีจริงๆจะเป็นช่วงต.ค.-ม.ค. เรียกได้ว่าทำ 4 เดือนเลี้ยงได้ทั้ง 12 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเมื่อช่วงเดือนต.ต.พ.ย.ปีที่แล้วก็ช่วยมาก ธุรกิจที่ลุ่มดอนๆ พอคลายล็อกดาวน์จะเริ่มดี ก็กลับมาล็อกดาวน์ใหม่ จากที่เคยขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้5ทุ่ม ก็กลับมาขายได้ถึง 3 ทุ่ม จนระลอกเมื่อเดือนเม.ย.ที่มีการติดเชื้อในประเทศ 6 พันคน ก็มีการล็อกทุกอย่างตั้งแต่ช่วงนั้น  พอนานหลายเดือนเข้า ธุรกิจร้านอาหารก็ลำบากเลือดตาแทบกระเด็น
          แม้ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 63รัฐบาลมีการปล่อยกู้ให้ธุรกิจร้านอาหาร อย่างเอสเอ็มอีแบ้งก์ ที่ปล่อยกู้ให้ 1,200 ล้านบาท แต่กู้ได้น้อยมากเพราะติดเรื่องเครดิตบูโร ก็ต้องเจรจากันไปว่าขอให้มีทะเบียนการค้าเสียภาษีถูกต้องก็กู้ได้ และล่าสุดก็มีเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ร้านอาหารก็มีไปกู้ธนาคารออมสินและเอสเอ็มอีแบงก์ได้บ้าง ซึ่งก็ต้องเอาไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ รักษาองค์กรไว้
          ฟื้นธุรกิจหลังคลายล็อกดาวน์
          ทั้งนี้ธุรกิจร้านอาหารจะมีเงินทุนที่จะอยู่ได้ 3 เดือน แต่ล็อกดาวน์ในปีนี้เกิดตั้งแต่เม.ย.-ส.ค. มันเกิน 4 เดือนแล้วที่ไม่มีกระแสเงินสด รายได้ที่การขายได้จากการTake away รายได้อยู่ที่ไม่เกิน 30% ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็จะมานั่งลุ้นศบค.ประชุมทุก 14 วัน พอเริ่มคลายล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด ร้านอาหารจำพวกปิ้งย่าง ชาบู จะขายได้ดีเพราะคนอยากออกไปกิน แต่ร้านอาหารที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มคนสูงอายุ หรือร้านอาหารจีน หรือร้านอาหารบางร้านก็ยังเลือกที่จะไม่เปิด เพราะต้องรอดูสถานการณ์ก่อน
          โดยสิ่งที่เราจะเดินต่อไปคือเมื่อกลับมาคลายล็อกดาวน์แล้ว จะต้องทำให้ไม่ต้องกลับมาล็อกดาวน์ใหม่ นั่นหมายถึงทางสมาคมฯและผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องร่วมมือกันให้บริการตามแนวคิด Universal Prevention เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยทั้งแก่พนักงานและลูกค้าที่เข้ามานั่งทานในร้าน ซึ่งนอกจากการเว้นระยะห่าง จัดที่นั่งตามเกณฑ์ที่วางไว้ อาทิ ห้องอาหารติดแอร์ให้นั่งได้ 50% แล้ว มาตรการที่รัฐจะให้ดำเนินการต่อไปในเดือนต.ค.นี้คือการให้ร้านอาหารที่ติดแอร์ ได้รับการตรวจเชื้อโควิดแบบ ATK สัปดาห์ละครั้งเพื่อสร้างมั่นใจ
          เฉพาะพนักงานร้านอาหารติดแอร์ในกรุงเทพฯก็มีราว 2 แสนคน ซึ่งชุดตรวจ ATK กระทรวงสาธารณสุขจะแจกให้ก็จะแจกได้เล็กน้อย ที่เหลือร้านก็จะต้องซื้อเอง และนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ และพนักงานร้านอาหารก็จะทยอยฉีดวัคซีน ซึ่งล่าสุดสมาคมภัตตาคารไทยขอวัคซีนให้ร้านอาหารล่าสุดอยู่ที่ 63,000 โดส ที่จะเปิดให้มาลงทะเบียนฉีด ส่วนของเดิมที่ขอได้ไป 37,000 โดส
          ในส่วนของลูกค้าที่มาใช้บริการก็จะมีการตรวจสอบว่าเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วหรือมีผลตรวจ ATK อย่างใดอย่างหนึ่ง มาแสดง เพื่อให้เข้ามาใช้บริการได้ โดยทุกอย่างต้องเตรียมพร้อม เพราะต่อไปเราต้องอยู่กับโควิดและดำเนินธุรกิจต่อไปให้ได้ แม้จะยุ่งยากขึ้น แต่ก็เป็นมาตรการที่ทำให้ร้านอาหารยังเปิดให้บริการได้ โดยที่ทั้งพนักงานและลูกค้ามีความมั่นใจในการใช้บริการ โดยเราก็หวังว่าเมื่อมีการเปิดประเทศ อย่างการเปิดกรุงเทพฯเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องกักตัว หากได้ข้อสรุปวันที่จะเปิดกรุงเทพฯชัดเจนเมื่อไหร่ มาตรการต่าง ๆเหล่านี้ก็จะเริ่มดำเนินการได้ต่อไป


pageview  1220036    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved