HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามกีฬา [ วันที่ 10/03/2564 ]
สมุทรสาครเจอเด็ก 1 ขวบติดโควิด

  ศบค. เผยสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 9 มี.ค. 64 พบติดเชื้อ 60 ราย กระจาย 4 จังหวัด สมุทรสาครสูงสุด เจอเด็ก 1 ขวบติดเชื้อ ด้วย ขณะที่ "บิ๊กตู่" ได้คิวฉีดวัคซีน ศุกร์ 12 มี.ค. นี้ "บิ๊กป้อม" คณะรัฐมนตรีที่เหลือฉีดด้วย ที่สถาบันบำราศนราดูร ด้านตัวเลขไทยฉีดวัคซีนโควิด มีแล้วเกือบ 3  หมื่นราย พบ 3,804 ราย มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด ระบุกระทรวงสาธารณสุข ส่งวัคซีนให้  ครบ 13 จังหวัดเป้าหมายเบื้องต้นแล้ว กุมารแพทย์ผู้ เชี่ยวชาญจากศิริราช แจงรายละเอียดสร้างความเข้าใจ ระหว่างการแพ้วัคซีน และอาการไม่พึงประสงค์หลังได้ รับวัคซี่น ที่พบบ่อยมักเป็นอาการไม่พึงประสงค์ ไทยพบเพียง 3.48 เปอร์เซ็นต์ ด้าน รมว.วัฒนธรรม เล็ง จัดโซนงานสงกรานต์ รอเคาะมาตรการหลังประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ปีนี้ได้เห็นภาพใส่หน้ากากเล่นน้ำ จัดคอนเสิร์ตได้แต่ต้องเว้นระยะ ย้ำ งดดื่มสุรา
          ไทยพบติดเชื้อ60ราย
          เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 64 ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด 19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์ของโควิด-19 ประจำเมืองไทย พบการติดเชื้อเพิ่ม 60 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 43 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม รักษาหาย 74 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 26,501 ราย รักษาหายแล้ว25,851 ราย เหลือรักษา 565 ราย เสียชีวิตสะสม 85 ราย ส่วนระลอกใหม่ติดเชื้อสะสม 22,264 ราย หายสะสม 21,674 ราย เสียชีวิตสะสม 25 ราย
          สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศ 43 ราย กระจาย ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี 3 ราย, กทม. 1 ราย,สมุทรสาคร 38 ราย และนนทบุรี 1 ราย ภาพรวม 3 วันของสัปดาห์นี้ พบการติดเชื้อสะสมใน 8 จังหวัด ถือว่าลดลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่ติดเชื้อ 11 จังหวัด
          ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทผู้ติดเชื้อพบว่า โดยมาจาก 1.ระบบเฝ้าระวัง 22 ราย ได้แก่ ปทุมธานี 2 ราย คือหญิงวัย 53 ปี และชายวัย 32 ปี สัญชาติ ไทยและเมียนมา กทม. 1 ราย เป็นชายไทยวัย 36 ปีและสมุทรสาคร 19 ราย เป็นคนไทย 4 ราย เมียนมา15 ราย เป็นหญิง 10 ราย อายุ 1-47 ปี ชาย 9 ราย อายุ 9-45 ปี 2.คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 21 ราย
          ได้แก่ ปทุมธานี 1 ราย นนทบุรี 1 รายและสมุทรสาคร 19 ราย และ 3.เดินทางมาจากต่าง ประเทศ 17 ราย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 6 ราย อังกฤษ 4 ราย ซูดาน พม่า รัสเซีย เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ประเทศละ 1 ราย และมาเลเซีย2 ราย เป็นชายไทยอายุ 23 ปีและ 24 ปี ลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติวันที่ 2 มี.ค. ตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ วันที่ 5 มี.ค. (Day 3)
          คิวนายกฯฉีดวัคซีน12มี.ค.
          รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเผยว่า ในเวลา 09.00 น.วันศุกร์ที่ 12 มี.ค.นี้ ที่สถาบันบำราศนราดูร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา โดยคาดว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะร่วมการรับวัคซีนในครั้งนี้ด้วย
          ก่อนหน้านี้วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ไทยเพิ่งฉีดวัคซีนโควิดครั้งแรกไป โดยมีผู้ได้รับวัคซีน ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
          ฉีดวัคซีนแล้วนับ3หมื่นคน
          เมื่อวันที่ 8 มี.ค.64 เฟซบุ๊กไทยรู้สู้โควิด โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม 2564 เวลา 18.00 น.)
          การจัดส่งวัคซีนถึงหน่วยบริการเป้าหมาย วันที่ 3 มีนาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งวัคซีนให้แก่จังหวัดเป้าหมายเบื้องต้นครบทั้ง 13 จังหวัด ระยะที่ 1 รอบแรก เป็นจำนวนวัคซีนรวม 116,520 โด้ส (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2564) และได้วางแผนการจัดส่งเพิ่มเติมให้กับพื้นกรุงเทพมหานคร และสมุทรสาคร ในวันที่ 19 มีนาคม 2564
          ด้านผลการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ผู้ได้รับวัคซีนรายใหม่ จำนวน 2,404 ราย ผู้ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 - ปัจจุบัน จำนวนทั้งหมด 29,900 ราย ผลการเฝ้าระวังเหตุการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน มีรายงานผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน จำนวน 2,380 ราย (คิดเป็นร้อยละ 7.96 ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด) โดยในวันนี้มีรายใหม่เพิ่ม 1,424 ราย
          ส่วนอาการที่พบ 1.อาเจียน 618 ครั้ง (ร้อยละ 17) 2.ปวดเมื่อยเนื้อตัว 494 ครั้ง (ร้อยละ 14) 3.มีอาการอักเสบบริเวณที่ฉีด 476 ครั้ง (ร้อยละ 13) 4.ไข้ 410 ครั้ง (ร้อยละ 11) 5.ปวดศีรษะ 340 ครั้ง (ร้อยละ 9) 6.ท้องเสีย 322 ครั้ง ร้อยละ 9) 7.ผื่น 266 ราย (ร้อยละ 6) 8.เหนื่อย 255 ครั้ง (ร้อยละ 6) 9.คลื่นไส้ 134 ครั้ง (ร้อยละ 4) 10.อื่นๆ 356 ครั้ง (ร้อยละ 10)
          สธ.สอบกรณีผัวเมียติดเชื้อ
          เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 64 กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ประเด็นสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ในประเทศไทย, ผลการดำเนินงานการฉีดวัคซีนโควิด-19, พาสปอร์ตวัคซีน โดย นพ.จักรรัฐ พิทยา วงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรม ควบคุมโรค และประเด็นการดำเนินงานแอปพลิเคชั่น "หมอพร้อม" กับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย ผศ.(พิเศษ) นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข
          นพ.จักรรัฐ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มีเคสที่น่าสนใจ สำหรับปราจีนบุรี-นครนายกนั้น คลัสเตอร์ล่าสุดเป็นคู่สามีภรรยา ชายไทย 60 ปี และหญิงไทย 62 ปี เปิดร้านขายอาหารในโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี แต่มีลูกสาวเป็นบุคลากรทางการแพทย์อยู่ที่นครนายก
          ทั้งนี้ สามีภรรยามีประวัติไปตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี สัปดาห์ละครั้ง ทุกสัปดาห์ โดย มีความกังวล จึงไปตรวจเชื้อที่นครนายก และพบว่า ตัวเองติดเชื้อ หลังมีการสอบสวนเพิ่มเติม พบว่า คุณลุงเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. และไปช่วยลูกสาวขายอาหารที่โรงงานในปราจีนบุรี ระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ.จากนั้นไป  หาหมอที่คลินิกในปราจีนบุรี และไปตรวจเพิ่มเติม ที่ จ.นครนายก ซึ่งคุณป้า ก็ไปตรวจเช่นเดียวกัน ซึ่งหลังจากที่พบว่า ทั้งคู่มีอาการป่วย จึง ได้ตรวจหาผู้สัมผัสร่วมบ้าน คือ ลูกชาย สะใภ้ หลาน และลูกสาว เบื้องต้นไม่พบเชื้อ และได้มีการตรวจ เชื้อเพิ่มเติม บุคลากรทางการแพทย์ใน รพ. ด้วยซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 36 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อขณะนี้รอตรวจครั้งที่ 2 ข ณะที่โรงงานสุ่มตรวจอีก1,405 คน รปภ.23 คน รวม 1,428 คน ขณะนี้รอ ผลตรวจอยู่ รวมถึงที่ร้านขายอาหารของตัวเอง มีลูก น้องทำงานช่วงกลางวัน และช่วงกลางคืน โดยลูกจ้าง ทำงานช่วงกลางวันไม่พบเชื้อ รอตรวจรอบที่สอง แต่ลูกจ้างทำงานช่วงกลางคืนเจอเชื้อ 3 ราย
          เล็งจัดโซนเล่นสงกรานต์
          นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการหารือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ศบค.ชุดเล็ก เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติผ่อนคลายเทศกาลสงกรานต์ ว่า ปีนี้จะมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้นต่างจากปีที่ 2563 ที่ไม่ให้จัด โดยกระทรวงวัฒนธรรมออกแนวปฏิบัติเน้นแก่นแท้ประเพณี รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่และบุพการี ส่วนกิจกรรมต่างๆ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้คิดกิจกรรมที่จะดึงดูดการท่องเที่ยว การสร้างรายได้
          ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นพ้องต้องกันว่าจะขอรับการสนับสนุนจำนวนวัคซีนโควิด-19 ให้กับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยได้รับการจัดสรรมาแล้วในลอตแรก และลอตถัดไปก็จะเพิ่มจำนวนเพื่อที่จะกำหนดเป็นโซนนิ่ง หรือเป็นพื้นที่ที่จะจัดกิจกรรมได้ เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) เชียงใหม่ พัทยา
          ทั้งนี้ข้อสรุปต้องรอให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หารือครบทุกหน่วยงานเสียก่อน โดยเฉพาะกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องของการให้ความเห็น เนื่องจากวันนี้เป็นมุมของท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การเล่นปาร์ตี้โฟมจะกระทำได้หรือไม่
          อาจเห็นภาพใส่แมสก์เล่นน้ำ
          รมว.สธ. เผยอีกว่า การนำเสนอเชิงกิจกรรม ทั้ง 2 กระทรวงได้หารือร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่ได้พิจารณาถึงรายกิจกรรม โดยพิจารณาถึงความเสี่ยงและการจัดภาพรวมของกิจกรรม ซึ่งถือเป็นข้อพิจารณาที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเสนอให้กรมควบคุมโรคพิจารณา เช่น จะจัดเป็นโซนผ่อนปรนเพื่อให้เล่นสาดน้ำได้ เล่นสงกรานต์บนรถกระบะได้หรือไม่
          ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากจะต้องหารือว่าอาจจะทำได้ในโซนพื้นที่ที่ขออนุญาต เพราะที่สำคัญจะต้องมีเจ้าภาพในการดูแลโซนพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการสืบสวนโรคหรือไทม์ไลน์หากมีผู้ติดเชื้อขึ้นมา ตรงนี้ก็จะเป็นประเด็นที่จะต้องหารือกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่ง ใส่หน้ากากเล่นน้ำสงกรานต์
          ปีนี้เราจะได้เห็นการใส่หน้ากากเล่นน้ำ และการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยเป็นการรดน้ำตามประเพณี ส่วนเรื่องการสาดน้ำโครมๆ นั้นน่าจะยังไม่เห็นในปีนี้ แต่อาจจะเห็นในโซนพื้นที่ที่กำหนด และได้รับอนุญาต ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ก่อน
          ด้านการดื่มสุรานั้นงดเว้นอยู่แล้ว ส่วนการแสดงดนตรี เบื้องต้นนั้นจากที่ได้ผ่อนปรนมาก่อนหน้านี้สามารถจะแสดงดนตรีได้ แต่ที่สำคัญคือเรื่องของการลดจำนวนคนเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด เช่น คอนเสิร์ตที่มีการยืนเบียดกัน ก็ต้องปรับรูปแบบให้เป็นการจัดที่ให้มีเว้นระยะ ส่วนการแสดงดนตรีพื้นบ้านก็ต้องดูที่จำนวนคนเป็นหลัก เช่น รำวง อย่างไรก็ตาม รูปแบบของกิจกรรมวัฒนธรรมนั้นเราไม่ต้องการให้ผิดเพี้ยนไป
          แพทย์แจงละเอียดอาการแพ้
          ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2564 กล่าวว่า กรณีประชาชนจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังการรับวัคซีนโควิด-19 ขอชี้แจงว่าวัคซีน ยา หรือ สารเคมีใดๆ ที่ใช้กับร่างกายถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายไม่รู้จัก จะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นตามมาได้ 2 แบบ คือ อาการไม่พึงประสงค์ และอาการแพ้ ซึ่งอาจไม่ได้แพ้ที่ตัวไวรัสโดยตรง แต่อาจเป็นการแพ้ส่วนประกอบอื่นๆ ของวัคซีน
          สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ สามารถเกิดขึ้นได้ภายหลังฉีดวัคซีนทุกชนิด แบ่งได้ 2 ประเภท คืออาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ เช่น ปวดบวมแดง เจ็บในตำแหน่งที่ฉีด สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบช่วยบรรเทาอาการได้ และอาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ได้แก่ มีไข้ต่ำๆ เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
          ส่วนอาการแพ้วัคซีน มักจะมีการเกิดผื่นแพ้ ซึ่งเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น ผื่นแดงบนผิวหนัง ที่สังเกตได้ง่ายคือ ลมพิษ เป็นผื่นนูน มีขอบเขตชัดเจน อาจคันหรือไม่ก็ได้ ส่วนอาการแพ้ที่รุนแรง อาจมีอาการหลอดลมตีบทำให้หายใจลำบาก ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกล็ดเลือดต่ำ มีจุดเลือดออกตามร่างกาย ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก หมดสติ ซึ่งต้องรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติแพ้ง่ายมาก่อน ควรมีการติดตามสังเกตอาการ มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติแพ้มาก่อน
          ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นเล็กน้อยกับผลดีที่จะได้อย่างมากจากการได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค ผมคิดว่ามันคุ้มค่ามากที่เราจะรับวัคซีนโควิด-19 และขอเชิญกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับวัคซีนในระยะแรกเข้ารับการฉีดวัคซีนตามวัน เวลาที่ได้รับการนัดหมายจากโรงพยาบาล เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิต” ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าว
          อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิด-19 จากซิโนแวค ในประเทศไทย ฉีดไปแล้วจำนวน 27,497 คน พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ 956 คน คิดเป็นร้อยละ 3.48 โดยหากแบ่งประเภทอาการ ส่วนใหญ่พบการอักเสบบริเวณที่ฉีด รองลงมา ปวดเมื่อยเนื้อตัว, คลื่นไส้, มีไข้, อาเจียน, เป็นผื่น, ท้องเสีย, เหนื่อย เป็นต้น ส่วนวัคซีนจากแอสตราเซเนกา ที่กำลังจะนำมาใช้พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เป็นไข้
          ส่วนผู้มีอาการแพ้ จะมีผื่นขึ้น ใบหน้าบวม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดรูปแบบการให้บริการฉีดวัคซีนรองรับ ตั้งแต่การซักประวัติอาการแพ้ การเฝ้าระวังสังเกตอาการเป็นเวลา 30 นาที และติดตามอาการในวันที่ 1, 7 และ 30 โดยใช้ Line Official Account "หมอพร้อม" บันทึกอาการที่ไม่พึงประสงค์เพื่อความปลอดภัย และเป็นข้อมูลในระดับประเทศต่อไป
          ป่วยโลก117.8ล้านคน
          เว็บไซต์ worldometers รายงานสถาการณ์
          โควิด-19 ทั่วโลก ประจำวันที่ 9 มี.ค. 64 ระบุตัวเลขการติดเชื้อทั่วโลก ณ เวลา 18.30 น. (เวลาไทย) พบการติดเชื้อแล้ว 117,822,687 คน เสียชีวิตแล้ว 2,613,729 คน และรักษาหายแล้ว 93,503,872 คน
          สหรัฐอเมริกา ยังเป็นชาติที่มียอดการติดเชื้อมากสุดในโลก ที่จานวน 29,744,652 คน ตามด้วย อินเดีย 11,244,786 คน, บราซิล 11,055,480 คน,รัสเซีย 4,342,474 คน และ สหราชอาณาจักร 4,223,232 คน


pageview  1210899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved