|
|
|
สยามกีฬา [ วันที่ 06/09/2564 ] |
|
|
|
|
สธ.เข้มโควิด1ต.ค. กินในร้าน-ตัดผม โชว์วัคซีนครบโดส ติดเชื้อใหม่ 15,452 |
|
|
|
|
พบติดเชื้อรายใหม่ 15,452 ราย ตายอีก 224 ศพ โดย 1 ตุลาฯ เข้ม โควิด ฟรี นั่งกิน ในร้าน-ตัดผม-เสริมสวย ต้องโชว์วัคซีนครบโดส/ผลเอทีเค บิ๊กตู่ ส่งคำขอบคุณ ให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล-บุคลากร-จิตอาสาศูนย์ฉีดวัคซีนของ อว.ไตรศุสลี เผยแนวทางกรมควบคุมโรคผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับวัคซีนไม่ครบ ให้รับเข็มที่ 2 ได้ใน 1-3 เดือน นับแต่วันเริ่มป่วย ด้านการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค บิ๊กตู่-อนุทิน แจงหมดในศึกซักฟอก "บราซิล" สั่ง ระงับใช้ วัคซีนซิโนแวคกว่า 12 ล้านโดส ชี้ผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต
ไทยพบติดเชื้อ15,452ราย
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,452 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดภายในประเทศ 14,956 ราย ค้นหา เชิงรุกในชุมชน 1,688 ราย ติดเชื้อจากผู้เดินทางต่าง ประเทศ 28 ราย และติดเชื้อในเรือนจา/ที่ต้องขัง เพิ่ม 468 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,251,671 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,280,534 ราย หายป่วยเพิ่มวันนี้ 18,257 ราย หายป่วยสะสม1,088,148 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,115,574 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิต 224 คนเสียชีวิตสะสม 12,761 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 12,855 คนติดเชื้อทั่วโลก 221,110,991 ราย อาการรุนแรง 105,661 ราย รักษาหายแล้ว 197,598,728
ราย เสียชีวิต 4,575,333 ราย อันดับประเทศที่มี ผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 40,765,356 ราย 2.อินเดีย จานวน 32,987,615 ราย 3. บราซิลจำนวน 20,877,864 ราย 4. รัสเซีย จำนวน 6,993,954 ราย 5. สหราชอาณาจักรจำนวน 6,941,611 ราย ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 29 จำนวน 1,280,534 ราย
1 ต.ค.ต้องโชว์วัคซีนครบโดส
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการออกข้อกำหนด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้ มอลล์ ออกความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 32 นั้น กำหนดให้ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เปิดให้บริการได้นั้น แต่เนื่องจากจัดเป็นพื้นที่ที่คนรวมตัวกันค่อนข้างสูง จึงขอความร่วมมือศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ที่เปิดดำเนินการต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงพร้อมปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1.ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม และห้องน้ำ ทุก 1-2 ชั่วโมง 2.ส่งเสริมให้ชำระเงินแบบออนไลน์ 3.ทำสัญลักษณ์เว้นระยะห่างบริเวณทางเข้าและจุดต่อคิว 4.จัดระบบจัดคิวจำกัดจำนวนคนไม่เกิน 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร 5.จัดให้มีฉากกั้นระหว่างพนักงาน (แคชเชียร์) และลูกค้า 6.เดินระบบจ่ายอากาศสะอาดหรือเปิดประตู หน้าต่าง อย่างน้อย 30 นาที ก่อนเปิดและหลังปิดระบบปรับอากาศมีการระบายอากาศที่เหมาะสมต่อจำนวนคน ส่วนห้องน้ำควรเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลาที่ให้บริการ และขอความร่วมมือให้ประเมินและรับรองตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus และแสดงใบรับรอง เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งสถานประกอบการและผู้ใช้บริการ
นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการที่จะบังคับใช้ในอนาคตซึ่งจะพิจารณาตามสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไปนั้น คือ การใช้มาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง (COVID Free Setting) ประกอบด้วยความปลอดภัย 3 ด้าน คือ 1. ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย (COVID Free Environment) อาทิ การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ทุก 1-2 ชั่วโมง เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ราวจับบันได ราวจับรถเข็น ที่เปิดประตู หมั่นทำความสะอาดสินค้า ทำความสะอาดระบบปรับอากาศทุก 3 เดือน ใช้ระบบกรองอากาศ HEPA หรือติดตั้งอุปกรณ์ กรองอากาศเฉพาะที่ เน้นบริเวณที่มีคนจำนวนมากและอากาศไม่ไหลเวียน เช่น ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น อีกทั้งเข้มงวดเรื่องมาตรการห้ามการรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่งด้วย 2.ด้านพนักงานปลอดภัย (COVID Free Personnel) มีภูมิคุ้มกัน โดยพนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้มีการคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย รวมถึงจัดหา ATK ให้พนักงาน เพื่อทำการตรวจทุกๆ 7 วัน กำชับให้งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน ระหว่างพัก และงดกินอาหารร่วมกัน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)
“ความปลอดภัยสุดท้ายคือ 3.ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย (COVID Free Customer) ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม ‘ไทยเซฟไทย’ หรือแอพพลิเคชั่นอื่นที่ทางราชการกำหนด หากจะใช้บริการในกิจการเสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ตัดผม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจ ATK ผลเป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือข้อกำหนดของจังหวัดด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
บิ๊กตู่ให้กำลังใจด่านหน้า
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 4 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายมงคลชัย สมอุดร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์บริการฉีดวัคซีน KU สู้ COVID-19 ณ อาคารจักรพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ดำเนินการภายใต้ อว. โดยการสนับสนุนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 โดยฉีดให้แก่บุคลากร นิสิต เจ้าหน้าที่ องค์กรและประชาชนในบริเวณชุมชน ในอัตราวันละประมาณ 10,000 คน เพื่อต้องการให้ทุกคนในและรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแหล่งสถานศึกษา องค์กร หน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องออกไปดูแลประชาชนทั่วประเทศให้มีภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 โดยเร็วตามนโยบายรัฐบาล
ปลัด อว.กล่าวต่อว่า ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้มอบพลาสเตอร์ปิดแผลหลังการฉีดวัคซีน จำนวน 40,000 ชิ้น จากภาคเอกชนที่บริจาคผ่านบัญชี “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ให้แก่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน KU สู้ COVID-19
“ในการนี้ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำคำขอบคุณและกำลังใจจากท่านนายกรัฐมนตรี ส่งถึงอาสาสมัครทางการแพทย์ จิตอาสา คณาจารย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของหน่วยฉีดวัคซีนทุกจุดของ อว. พร้อมทั้งได้ขอให้ทุกคนร่วมกันยกระดับป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขั้นสูงสุดตามหลัก Universal Prevention เพื่อสร้างสมดุลการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับสถานการณ์โควิด-19” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าว
เผยแนวทางกรมควบคุมโรค
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ขณะนี้ได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวทางการให้วัคซีนแก่ผู้ที่เคยป่วยโควิด-19 ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หายป่วยแล้วยังต้องรับวัคซีนหรือไม่ หรือหากต้องรับต้องเว้นระยะเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยนานเพียงใดนั้น
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า จากสอบถามกรณีนี้ไปยังกระทรวงสาธารณสุขและได้รับการชี้แจงว่าจะต้องเป็นไปตามแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ที่กรมควบคุมโรค ออกแนวทางและเผยแพร่ให้บุคลากรการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการให้วัคซีนตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีแนวทางว่า ในกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน หรือฉีดยังไม่ครบ 2 เข็ม หากป่วยเป็นโรคโควิด-19 ให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดใดก็ได้ เพิ่มอีก 1 เข็ม ภายใน 1-3 เดือนหลังจากเริ่มป่วย คนที่เคยได้ครบ 2 เข็มแล้วไม่ต้องฉีดเพิ่มอีก
“การให้วัคซีนทั้งแก่ประชาชนจะดำเนินการตามแนวทางที่กรมควบคุมโรคกำหนด ซึ่งมีการปรับปรุงไปตามข้อมูลที่มีมากขึ้นเนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้นำข้อมูลใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาวิเคราะห์ก่อนวางแนวทางออกมาเพื่อการให้วัคซีนแก่ประชาชนมีความปลอดภัยสูงสุด” น.ส.ไตรศุลีกล่าว
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตอบข้อซักถาม ข้อกล่าวหาของสมาชิกฝ่ายค้านในทุกประเด็นในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-4 กันยายนที่ผ่านมา
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โดยเฉพาะในประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับส่วนต่างระหว่างกรอบงบประมาณให้จัดซื้อวัคซีนซิโนแวคกับราคาจริงของวัคซีนนั้น นอกจากการชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ชี้แจงให้ความชัดเจนด้วยว่า จากที่มีการส่งมอบวัคซีนซิโนแวคแล้วทั้งหมด 16 ครั้ง ราคาวัคซีนถูกลงเรื่อยๆ จากล็อตแรกที่ซื้อ 2 ล้านโดส ราคาซื้ออยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส แต่ในเวลาต่อมาซื้อจำนวนมากขึ้น มีการต่อรองราคาจึงถูกลงตามลำดับ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 11.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ขั้นตอนการจัดซื้อ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการจัดซื้อ เนื่องจากผู้ผลิตจะทำสัญญากับเฉพาะผู้แทนรัฐบาลเท่านั้น อภ.ได้ใช้งบประมาณของ อภ.จัดซื้อไปก่อน ประกอบด้วยค่าวัคซีน ค่าจัดส่งและค่าความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนรวมอยู่ด้วย จากนั้น อภ.จะส่งวัคซีนให้กรมควบคุมโรคแล้วเรียกเก็บเงินที่ราคาจริง ที่เป็นค่าวัคซีนรวมค่าจัดส่งและอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวในแต่ละรอบการจัดส่ง (shipment) ดังนั้น จึงไม่มีส่วนต่างใดๆ ที่ตกถึง อภ.
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ส่วนงบประมาณที่ขอไว้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของราคาวัคซีนนั้นก็เป็นเพียงการขออนุมัติกรอบงบประมาณไว้ แต่ในขั้นตอนการจ่ายงบประมาณนั้นกรมควบคุมโรคจะจ่ายที่ราคาค่าวัคซีนรวมค่าบริหารจัดการตามที่ อภ.เรียกเก็บจริงเท่านั้น จึงไม่ได้มีส่วนต่างที่เข้ากระเป๋าใครทั้งสิ้น
"บราซิล"ระงับใช้ซิโนแวคกว่า12ล.โดส
อันวิซา สำนักงานกำกับดูแลด้านสุขภาพของประเทศบราซิล มีคำสั่งระงับใช้วัคซีนซิโนแวค ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ของจีน จำนวนมากกว่า 12 ล้านโดส สืบเนื่องจากวัคซีนจำนวนดังกล่าว ผลิตจากโรงงานผลิตที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบและไม่ได้รับอนุญาต
คำสั่งดังกล่าวมีขึ้น หลังจากทางอันวิซา ได้รับแจ้งจากสถาบันบูตันตันในนครเซาเปาโล ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ชีวภาพ ที่เป็นหุ้นส่วนกับทางซิโนแวค เพื่อทำหน้าที่บรรจุขวดวัคซีนซิโนแวคในบราซิลว่า มีวัคซีนจำนวน 25 แบทช์ คิดเป็นจำนวนโดส 12.1 ล้านโดส ซึ่งจัดส่งให้กับทางการบราซิลไปแล้ว ผลิตขึ้นจากโรงงานของตน
อันวิซาระบุว่า โรงงานผลิตดังกล่าวไม่ได้รับการตรวจสอบและไม่ได้รับอนุมัติให้ผลิตวัคซีนในประกาศของอันวิซาที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวคในบราซิลเป็นกรณีฉุกเฉินแต่อย่างใด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสั่งระงับ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประชาชนเกิดความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายขึ้นได้
รายงานข่าวระบุว่า บูตันตันยังได้แจ้งต่ออันวิซา ว่ายังมีวัคซีนอีก 17 แบทช์ หรือราว 9 ล้านโดส ที่ผลิตจากโรงงานเดียวกันนี้ อยู่ระหว่างการจัดส่งไปยังบราซิล
ในถ้อยแถลงของอันวิซา ระบุว่า ทางอันวิซาเตรียมใช้ระยะเวลา 90 วัน ซึ่งระงับการใช้ซิโนแวคครั้งนี้ไปเพื่อหาทางตรวจสอบโรงงานผลิตและตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยระหว่างการผลิตของโรงงานดังกล่าว |
| | |
|
| |