HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามกีฬา [ วันที่ 30/08/2564 ]
สัญญาณดีขึ้น คนติดเชื้อลดลง ปลายก.ย.เข็ม3 เร่งฉีดป้องกัน

สัญญาณดีไทยติดเชื้อลดลง
          สัญญาณดีไทยติดเชื้อรายวันลดลงเหลือ 16,536 ราย ตาย 264 ศพ ได้บูสต์เข็ม 3 ปลาย ก.ย.นี้ สธ.ย้ำเวิร์กฟรอมโฮมต่ออีก 1 เดือน ส่งกลับชาว เมียนมาอีกระลอกกว่า 200 คน ป้องกันการแพร่ ระบาด ด้าน นิด้าโพลเผย ปชช. ส่วนใหญ่มองมาตรการ ล็อกดาวน์คุมโควิดล้มเหลว โฆษกรัฐบาลชี้ สถานการณ์ โควิด-19 เห็นสัญญาณดีขึ้น เผย นายกฯ จัดหาวัคซีน 140 ล้านโดส ภายในปี 64 แจงสั่งแอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ จากยุโรปเพิ่มอีก ขอบคุณคน ไทยที่ให้ความร่วมมืออย่างดี แนะยังต้องป้องกันตัวเองสูงสุด เพื่อลดโอกาสติดเชื้อเพิ่ม
          ติดเชื้อลดลง 16,536 ราย
          ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) รายงาน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,536 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อทั่วไปในประเทศ 16,200 ราย ติดเชื้อจากผู้เดินทางต่างประเทศ 8 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขังเพิ่ม 328 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,145,228 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม ราย 1,174,091 หายป่วยเพิ่มวันนี้ 20,927 ราย หายป่วยสะสม 957,820 ราย หายป่วยยืนยัน สะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 985,246 ราย วันนี้มีผู้เสีย ชีวิต 264 คน เสียชีวิตสะสม 11,049 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 11,143 คน
          ติดเชื้อทั่วโลก 216,712,749 ราย เสียชีวิต 4,506,868 ราย รักษาหาย 193,636,722 รายประเทศที่ติดเชื้อสูงที่สุด 5 อันดับแรก สหรัฐอเมริกา39,617,417 ราย, อินเดีย 32,694,188 ราย,บราซิล 20,728,605 ราย, รัสเซีย 6,863,541 ราย,ฝรั่งเศส 6,728,858 ราย
          เข็ม3ปลายก.ย.ย้ำWFHต่อ1เดือน
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยว่า สำหรับมาตรการอื่นๆ ยังคงต้องเข้มข้นต่อไป โดยเฉพาะการทำงานจากที่บ้าน ก็ขอให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องอีกสัก 1 เดือน เพื่อพิจารณาตัวเลขผู้ติดเชื้อว่าลดลงไปในระดับใด หลังจากนั้น จึงจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการอื่นเพิ่มเติม และที่สำคัญคือ ทุกคนต้องปฏิบัติมาตรการ Universal Prevention for COVID-19 ด้วยการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด “คิดเสมอว่า คนใกล้ตัวอาจเป็นคนติดเชื้อและเราเองก็อาจเป็นคนแพร่เชื้อได้ ดังนั้น ต้องเข้มงวดมาตรการ DMHTT ต่อเนื่อง และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นอกจากนี้ มาตรการองค์กรต่างๆ ก็จะต้องเพิ่มในเรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจเร็ว แอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค องค์กรต่างๆ ที่เริ่มผ่อนคลาย ต้องดูเรื่องสถานที่ ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยเฉพาะร้านอาหารที่ติดแอร์ รวมถึงพนักงานต้องฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยเอทีเคอย่างสม่ำเสมอ ช่วงแรกนี้ ยังไม่บังคับ เพราะการกระจายเอทีเคยังไม่ทั่วถึง แต่ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เชื่อว่าหลายฝ่าย ไม่ว่าจะสมาคมภัตตาคารไทย ร้านค้า ก็ยินดีร่วม และเดือนหน้าจะมีเอทีเคมากขึ้น โดยสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิของคนไทยต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว
          อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 ของประชาชนทั่วไปนั้น ล่าสุดทางอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 มีมติให้เริ่มทำการฉีดในช่วงปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ซึ่งจะเป็นวัคซีนชนิดใด ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์วัคซีนที่มีอยู่ในขณะนั้น ส่วนผู้ที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มีประมาณ 3 ล้านคนทั่วประเทศ” นพ.โอภาสกล่าว
          ส่งแรงงานพม่ากลับกว่า200คน
          ที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 อ.แม่สาย จ.เชียงราย คณะกรรมการชายแดนไทย-เมียนมา ระดับท้องถิ่นหรือทีบีซี ร่วมกับด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งมอบตัวชาวเมียนมากลับคนสู่ประเทศเพื่อข้ามสะพานดังกล่าวไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยมีทางทีบีซีฝ่ายเมียนมาและ ตม.ท่าขี้เหล็ก เข้ารับมอบตัวคนทั้งหมดซึ่งประกอบไปด้วยแรงงานชาวเมียนมาที่แจ้งขอกลับประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 68 ราย นอกจากนี้ยังมีแรงงานที่ลักลอบข้ามแดนเข้ามาทำงานในประเทศไทย และถูกทางการจับกุมตัวได้แล้วผลักดันกลับไปยังประเทศเมียนมาในโอกาสเดียวกันนี้อีกจำนวน 185 ราย รวมจำนวนทั้งหมด 253 ราย ซึ่งการส่งมอบตัวกลับเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
          ขณะที่ในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก พบว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลท่าขี้เหล็กจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกจำนวน 3 ราย โดยเป็นชายอายุ 67 ปีและหญิงอายุ 55 ปี และ 38 ปีตามลำดับ ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลมีอยู่รวมกันทั้งหมดจำนวน 70 รายแล้ว ขณะที่ผู้ติดเชื้อระลอกที่ 3 นับตั้งแต่มีการระบาดช่วงเดือน มิ.ย.2564 เป็นต้นมีมากกว่า 2,000 ราย และยังระบาดไปยังเมืองอื่นๆ เช่น เมืองเชียงตุง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ห่างออกไปประมาณ 168 กิโลเมตร ก็มีผู้ป่วยสะสมแล้วกว่า 1,451 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 23 ราย เป็นต้น
          โพลเผยปชช.มองมาตรการรัฐล้มเหลว
          สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “มาตรการล็อกดาวน์ ควรไปต่อหรือไม่” จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามประชาชนถึงการประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากมาตรการ ล็อกดาวน์ในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.67 ระบุว่า ไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะ การล็อกดาวน์ไม่มีความเข้มงวด มีการล็อกดาวน์ แค่บางพื้นที่ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังคงดำเนินชีวิตอย่างปกติ ทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 28.81 ระบุว่า ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามที่รัฐกำหนด และบางคนก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ร้อยละ 26.83 ระบุว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนมีการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด งดการรวมตัว ทำให้ลดการแพร่ระบาดลงได้ ร้อยละ 6.17 ระบุว่า ประสบความสำเร็จมาก เพราะมีการจำกัดการเดินทางทำให้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อลงได้ และร้อยละ 2.52 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
          ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินการมาตรการล็อกดาวน์เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.14 ระบุว่า ควรดำเนินการต่อ แต่ให้มีมาตรการเข้มข้นขึ้น เพราะ มาตรการต่าง ๆ ต้องจริงจัง และบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับคนที่ ฝ่าฝืน เพื่อให้ประชาชนจะได้หยุดการเดินทาง ลดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดการรวมตัวมากยิ่งขึ้น และควรดำเนินการต่อ แต่ให้ผ่อนคลายมาตรการลง เพราะ บางพื้นที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลงแล้ว และประชาชนบางส่วนก็ได้รับวัคซีนแล้ว ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ไม่ควรดำเนินการต่อ เพราะ ถึงแม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์ยังไงก็ยังมีจำนวนยอดผู้ติดเชื้อเยอะอยู่ดี รัฐบาลควรจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาฉีดให้แก่ประชาชน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประชาชนส่วนมากได้รับผลกระทบในเรื่องของการไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ร้อยละ 21.27 ระบุว่า ควรดำเนินการต่อเหมือนเดิม เพราะ มาตรการเป็นการควบคุมที่พอดี มีการควบคุมเฉพาะพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น ประชาชนยังสามารถประกอบอาชีพและเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก และร้อยละ 2.29 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
          โฆษกรัฐบาลชี้โควิดไทยดีขึ้น
          ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยมีสัญญาณดีขึ้น ยอดผู้ป่วยที่รักษาหายสามารถกลับบ้านได้ ตัวเลขอยู่ที่สองหมื่นกว่ารายติดต่อกันเป็นเวลา 20 กว่าวันแล้ว และจำนวนผู้หายป่วยกลับบ้านนั้นมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน 10 กว่าวันแล้วด้วย ถือเป็นข่าวดี ขณะเดียวกันจำนวนยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็มีแนวโน้มค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขจะยังสูงอยู่ เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่แนวโน้มในระยะยาวน่าจะค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ ศบค.ได้เห็นชอบกับแผนการที่เรียกว่าการควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจาก โควิด-19 หรือ “Smart Control and Living with COVID-19” ด้วยการยกระดับป้องกันตัวเองอย่างสูงสุด การฉีดวัคซีนให้เป็นภูมิคุ้มกันหมู่ การเข้าถึงชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือเอทีเค การจัดสภาพแวดล้อมของกิจการให้ปราศจากโควิด (COVID-Free Setting) เป็นต้น
          จัดหาวัคซีนเพิ่มอีกในปี64
          ธนกร กล่าวอีกว่า ตามแผนการจัดหาวัคซีนนั้น ภายในสิ้นปีนี้จะมีวัคซีนจำนวน 140 ล้านโดส นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เจรจาสั่งซื้อวัคซีนจากสหภาพยุโรป หรือ อียู เพิ่มอีก แบ่งเป็นวัคซีน แอสตร้าเซนเนกา จำนวน 2 ล้านโดสต่อเดือน (กันยายน-ธันวาคม 64 เป็นเวลา 4 เดือน) และวัคซีน ไฟเซอร์/บิออนเทค จำนวน 2.5-3 ล้านโดสต่อเดือน (กันยายน-ธันวาคม 64 เป็นเวลา 4 เดือน) ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี เพื่อสร้างภูมิให้พร้อมในการเปิดเรียนด้วย ซึ่งตอนนี้ ศบค.ได้นำมาตรการ Sandbox Safety Zone in School เป็นการทดลองเปิดเฉพาะโรงเรียนประจำก่อนบางแห่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนให้กับครูแล้วกว่า 573,656 คน และยังคงมีนักเรียนในระบบอีกประมาณ 4 ล้านคนจากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ไทยจะได้รับวัคซีนรวมทุกประเภท 140 ล้านโดส โดยจะเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนตามเป้า 50 ล้านคน ครอบคลุม 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทั้งบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยให้เร็วที่สุด สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ไทยมีอยู่
          “ต้องขอบคุณคนไทยทุกคนที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ทั้งสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ต้องตระหนักว่าเชื้อโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ระบาดกว้างขวาง แพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทย แต่เป็นวิกฤตทั่วโลก บางคนติดแล้วไม่แสดงอาการ ทำให้ไปติดครอบครัวได้ง่าย จึงขอให้คิดเสมอว่า เราอาจจะติดเชื้อแบบไม่รู้ตัว และอาจจะเป็นผู้แพร่เชื้อได้ ดังนั้น ขอให้ทุกคนยกระดับการป้องตนเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ต้องระมัดระวังสูงสุด ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัว ทานอาหารปรุงสุก หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงต้องรีบตรวจด้วย เอทีเค ขอให้ทุกคนอดทน เพื่อช่วยกันลดโอกาสการติดเชื้อเพิ่ม นำไปสู่การฟื้นฟูประเทศต่อไป” นายธนกรกล่าว


pageview  1220038    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved