HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 30/03/2555 ]
คอลัมน์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพ: กวาวเครือแดงแรงฤทธิ์ ข่าวดีสำหรับบุรุษ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง
          มูลนิธิสุขภาพไทยwww.thaihof.org
          ในโลกที่สะดวกสบายด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่หยุดนิ่งนี้ พบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตประจำวันของคุณผู้ชายอย่างมากปัจจัยหนึ่ง คือ โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งมิได้หมายถึง อาการที่อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์จนเป็นที่พึงพอใจได้อย่างต่อเนื่อง
           ปัจจุบันเป็นโรคที่พบมากในชายทุกวัย แต่จะพบมากขึ้นในชายที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ส่งผลให้ขาดความเชื่อมั่นในความเป็นชายชาตรี
           ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเพราะอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าเหินห่างจากเพื่อนฝูงเฉยชาต่อครอบครัว แม้แต่คู่ครอง ซึ่งอาจนำไปสู่การหย่าร้างในที่สุด
           ผู้ชายที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ได้แก่ ผู้ที่มีความเครียด สูบบุหรี่ ดื่มสุราจัดหรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคระบบทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากยาเกี่ยวกับระบบสมอง และระบบประสาทที่ทำให้การแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง เป็นต้น
           ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มักรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้โดยใช้ยาที่มีฤทธิ์โดยตรงต่อกลไกการแข็งตัวของอวัยวะเพศ เช่น ยาซิลเดนาฟิล ซิเตรต (Sildenal Citrate) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการค้าว่าไวอากร้า (Viagra) นั่นเอง
           หรือถ้าหากต้องการให้อวัยวะแข็งตัวทันใจ แพทย์ก็อาจใช้ยาฉีดเข้าที่โคนองคชาติเพื่อขยายหลอดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ แต่การใช้ยาเหล่านี้ตัองอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เพราะเสี่ยงต่ออาการหัวใจวาย หรือตาบอด
          ส่วนในด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยนั้น สมุนไพรส่หลายชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคกามตายด้าน เช่น ตะโกนา กำลังช้างสาร โด่ไม่รู้ล้ม ม้ากระทืบโลง กระชายดำ
          กระชายเหลือง ทองกวาว กวาวเครือ รวมทั้งเมล็ดหมามุ่ยที่ฮือฮากันเมื่อปีกลาย
           สมุนไพรดังกล่าวเมื่อนำไปศึกษาวิจัยทางคลินิกและทางเภสัชแผนใหม่ก็พบว่าตรงบ้างและไม่ตรงบ้างกับประสบการณ์การใช้ของแผนโบราณ
           ในที่นี้มีสมุนไพรตัวหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์การใช้มายาวนานของหมอพื้นบ้าน ซึ่งตรงกับผลการวิจัยในปัจจุบัน คือ กวาวเครือแดง (ชื่อวิทยาศาสตร์Butea Superba Roxb.) กวาวเครือเป็นสมุนไพรในวงศ์เลกูมิโนเซ (Leguminosae) ซึ่งเป็นพวกตระกูลถั่ว ที่มีเมล็ดอยู่ในฝัก มี 3 ชนิด คือ กวาวเครือขาว (Pueraria Condollei Grahamex Benth) ซึ่งมี 2 พันธุ์ เป็นสมุนไพรที่เกิดมาสำหรับรับใช้สตรี สังเกตได้จากหัวกวาวเครือขาวมีลักษณะดังปทุมถัน ซึ่งบ่งสรรพคุณของสมุนไพรนี้ไปในตัว
           ส่วนกวาวเครือแดงนั้นหัวมีลักษณะเหมือนปลัดขิกสีแดง ซึ่งบ่งการใช้ในเพศชายโดยเฉพาะ
          และกวาวเครือดำ (Mucuna Macrocarpa Wall) มีหัวเหมือนกวาวเครือแดง เพียงแต่มีเปลือกสีดำ แต่เป็นชนิดที่หายากมาก
          ว่าเฉพาะกวาวเครือแดง ตามตำราไทยระบุว่าใช้รับประทานเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง และเชื่อว่าสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของบุรุษได้ ความเชื่อนี้ไม่เป็นความเชื่ออีกต่อไป เมื่อมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในกวาวเครือแดงยืนยันถึง 3 ระดับด้วยกัน คือ
           1. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชเคมีของสารสกัดกวาวเครือแดงต่อกล้ามเนื้อเรียบอวัยวะเพศที่แยกจากหนูตัวผู้ พบว่าสารสกัดกวาวเครือแดงทุกชนิดรวมทั้งสารสกัดด้วยน้ำ มีฤทธิ์เพิ่มความแข็งตัวของอวัยวะเพศ เหมือนฤทธิ์ของซิลเดนาฟิล ซิเตรต (Sidenal Citrate) ของยาไวอากร้า (Viagra)
           2. การศึกษาทดลองในหนู ด้วยการป้อนกวาวเครือแดงแบบผงป่นละลายน้ำเข้มข้น 5 มิลลิกรัม/ซีซี ให้แก่หนูทดลองเป็นเวลา 21 วัน พบว่า ทำให้น้ำหนักตัวของหนูและปริมาณอสุจิของมันเพิ่มขึ้น และเมื่อศึกษาต่อไปถึงระยะ42 วัน พบว่าความยาวของอวัยวะสืบพันธุ์ และพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหนูมีเพิ่มมากขึ้น
           3. การศึกษาทางคลินิกเพื่อทราบฤทธิ์ของกวาวเครือแดงต่อสมรรถภาพทางเพศในคน โดยศึกษาในอาสาสมัครเพศชาย 17 คน มีอายุระหว่าง 30-70 ปี ที่มีประวัติหย่อนสมรรถภาพทางเพศอย่างน้อย 6 เดือน สุ่มแบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานกวาวเครือแดงแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล วันละ 4 ครั้งครั้งละ 1 แคปซูล หลังอาหารและก่อนนอน เป็นเวลา 3 เดือน ส่วนกลุ่มที่สองให้รับประทานยาหลอก
           สรุปผลการทดลองได้ว่ากวาวเครือแดงสามารถฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ถึง82.4% โดยปราศจากความเป็นพิษ
          แต่เนื่องจากกวาวเครือทั้ง3 ชนิด เป็นสมุนไพรหายากที่ต้องควบคุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2549  กล่าวคือ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน หน่วยงานศึกษาวิจัย โรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไปสามารถครอบครองสมุนไพรควบคุมดังกล่าวได้ในปริมาณ น้ำหนักมากน้อยตามที่ระบุไว้ในประกาศตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542
           ดังนั้น การนำกวาวเครือทุกชนิดและกวาวเครือแดงมาใช้ทำยาจึงต้องคำนึงถึงกฎหมาย และควรได้รับการแนะนำจากแพทย์แผนไทย แม้กวาวเครือแดงที่รับประทานตามขนาดกล่าวไว้จะปลอดภัยมากกว่ายาไวอากร้าก็ตาม
           อย่างไรก็ตาม ยาสมุนไพรจะได้ผล คนป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมสุขภาพที่ทำให้เกิดโรคเซ็กซ์เสื่อมด้วยเช่น เลิกเหล้า-บุหรี่ อย่างเด็ดขาด รักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และรู้จักทำใจผ่อนคลายไม่ให้เครียด เป็นต้น
           หากปรับปัจจัยสุขภาพดังกล่าวได้สำเร็จ อาจไม่.ต้องพึ่งไวอากร้าไทยอย่างกวาวเครือแดงก็ได้ หรือถ้าต้องพึ่งยาบ้างก็พึ่งไม่มากแต่ได้ผลเต็มร้อย


pageview  1210902    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved