HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 23/01/2555 ]
แพทย์ชี้เลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยีส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพกาย/ใจ

 ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าคนในสังคมทั่วไปมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง โดยเฉพาะแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งนอกเหนือจากการใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารแล้ว ยังมีการนำมาใช้ในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย เช่นเพื่อค้นคว้าหาข้อมูล เป็นสื่อการสอน หรือแม้กระทั่งเป็นการสันทนาการ ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคน หากใช้อย่างที่มีจุดมุ่งหมายและควบคุมตนเองได้ ประโยชน์ก็จะเกิดตามวัตถุประสงค์
          โดย นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า สำหรับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นั้นหากเมื่อใดการใช้กลายเป็นการติด จากการใช้ในเวลาว่างกลายมาเป็นการใช้จนบดบังเวลาหลัก ปัญหาใหญ่ย่อมเกิดขึ้นมากมาย หากผู้ใหญ่เองไม่รู้จักแบ่งเวลาให้ถูก หมกมุ่นมาก ก็จะกลายเป็นการเสพติด มากๆ เข้าก็ทำให้หน้าที่การงานเสียหายและชีวิตส่วนตัวก็อาจมีปัญหาอีกทั้งยังกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้เด็กๆ อีกด้วย มีบางกรณีเมื่อควบคุมไม่ได้หนักๆเข้าก็กลายเป็นซึมเศร้าเลยก็มี
          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้มีการกล่าวถึงอย่างมาก มายและมีอัตราการเกิดมากขึ้น อีกทั้ง วัยที่พบก็ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือการปลูกฝังให้คนในสังคมตระหนักว่าเทคโนโลยี เป็นได้ทั้งประโยชน์และโทษ หากเรารู้จักควบคุมตนเองและเรียนรู้ที่จะไม่กลายเป็นเหยื่อของความทันสมัย ปัญหาเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นได้ยากขึ้น แต่สำหรับเด็กบางคนที่ยังขาดเรื่องของความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ ปัญหาเหล่านี้อาจจะคุกคามจนติดเป็นนิสัยและก่อเกิดเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้ในอนาคต
          “เดี๋ยวนี้มีเด็กหลายกลุ่มหลายคนอยากได้ของขวัญเป็นแท็บเล็ต สมาร์ทโฟนโดยไม่จำเป็นกันมากขึ้น เราพบว่ารากเหง้า ของปัญหาจริงๆ แล้วมาจากเรื่องค่านิยมทางสังคม การต้องการ การยอมรับจากคนรอบข้าง เพราะเมื่อใครมีอุปกรณ์ดังกล่าว ก็มักจะเป็นการแสดงถึงความทันสมัย ความมีฐานะ เกิด ความรู้สึกเป็นหน้าเป็นตาโดยลืมเรื่องประโยชน์ที่แท้จริงไป”
          ทั้งนี้ ในสังคมปัจจุบันมีผู้ใหญ่จำนวนมากเกิดความต้องการที่จะมีสิ่งของเหล่านี้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ซึ่งค่านิยมผิดๆ เหล่านี้เองที่กลายเป็นการปลูกฝังถ่ายทอดไปยังเยาวชนคนรุ่นหลังต่อไป โดยขณะนี้มี การประชุมของผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและมีผลงานวิจัยมากมายที่หาข้อสรุปในเรื่องอายุของเด็ก ที่ควรจะได้รับสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต พบว่าเด็กที่มีอายุก่อน 2-3 ปีนั้น ไม่มีความจำเป็นที่ต้องได้รับสื่อทางโทรทัศน์ หรืออินเตอร์เน็ต เนื่องจากสิ่งดังกล่าวไม่ได้ช่วยเรื่องพัฒนาการตามวัยที่เหมาะสม ซึ่งมีข้อสรุปคร่าวๆ ได้ว่าควรให้เด็กในช่วงวัยเรียนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ 1 ชั่วโมงต่อวัน ในวันเรียน และ 2 ชั่วโมงต่อวัน ในวันหยุด
          น.พ.อภิชาติ กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นมักพบว่าเด็กไม่สามารถควบคุมระยะเวลาในการใช้คอมพิวเตอร์หรือสื่อต่างๆ ได้ เนื่องจากเด็กบางคนไม่ค่อยได้รับการถูกฝึกวินัยในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กกลุ่มนี้คุ้นชินกับการไม่มีวินัยในหลายๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องความอดทนและการกำหนดเวลาในการใช้ด้วย
          ดังนั้น เราควรแนะนำให้มีการจัดวางคอมพิวเตอร์หรือสื่อ ต่างๆ ไว้ที่ห้องส่วนกลาง ไม่ให้จัดไว้ในห้องส่วนตัวเด็กเพื่อผู้ปกครองจะได้คอยแนะนำเด็กได้อย่างถูกต้อง แต่ปัจจุบันเมื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นแท็บเล็ต ก็พบว่าอาจเกิดปัญหาที่ค่อนข้างยาก ขึ้นในการที่ผู้ใหญ่จะเข้าไปช่วยดูแล ดังนั้นเพื่อลดปัญหานี้ผู้ปกครองจึงควรเป็นฝ่ายเก็บอุปกรณ์ดังกล่าว และอนุญาตให้เด็กใช้ได้ เมื่อมีผู้ใหญ่อยู่ด้วย เพื่อคอยช่วยกำกับเวลาและให้คำแนะนำ
          “ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กรู้จักหน้าที่ รู้จักการจัดลำดับความสำคัญ ทำอย่างไรให้การพักผ่อนไม่รบกวนหน้าที่หลักมีการแบ่งเวลาเรื่องเรียน ดูแลกิจวัตรประจำวันมีการช่วยงานบ้าน ควรฝึกให้เด็กได้รู้จักแยกแยะว่าการใช้นั้นเพื่อเป็นกิจกรรม สันทนาการหรือเป็นการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม”
          นอกจากนี้ ยังพบปัญหาที่เกิดขึ้นทางด้านสุขภาพทางกายได้หลายด้านด้วย เช่น ปัญหากล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ปวดหลัง และที่พบ บ่อยๆ คือปัญหาด้านสายตา การขาดการออกกำลังกาย ในบางกรณีเด็กใช้เวลากับอุปกรณ์เหล่านี้มากจนขาดการเข้าสังคมและเกิดปัญหาการสื่อสารตามมาได้ อีกทั้งยังส่งผลในเรื่องของโรคสมาธิสั้นในเด็กอีกด้วย เพราะจากผลสำรวจในปีนี้พบกลุ่มเด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มีจำนวนราว 5 ล้านคน พบว่าป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นถึงร้อยละ 6.5 โดยคาดว่า จะมีเด็กไทยป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 310,000 ราย ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กเป็นโรคนี้ร้อยละ 5
          “ที่จริงยังไม่มีวิจัยใดที่สรุปว่า คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เป็นสาเหตุของโรคนี้ แต่การเล่นคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะ เกมบางอย่าง เช่น กดปุ่มแล้วเกิดผลทันที จะยิ่งเป็นการไปส่งเสริมอาการของสมาธิสั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”
          ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้น สร้างความสะดวกสบาย เราควรต้องเปิดรับเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตร่วมสมัยในสังคมปัจจุบัน แต่ควรรับสิ่งต่างๆ อย่างมีสติ ผู้ปกครองเองก็ต้องเข้าใจเทคโนโลยีและเป็นแบบอย่างในการใช้ที่เหมาะสม 
 


pageview  1220044    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved